...

วัดตองปุ จังหวัดลพบุรี
          วัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ด้านนอกของกำแพงเมืองลพบุรีชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คำว่า “ตองปุ” เป็นภาษามอญ แปลว่าที่รวมพลหรือรวมทหาร มีเสาหงส์ จำนวน 1 ต้น อยู่ด้านข้างการเปรียญ ศิลปะภายในวัดตองปุ ส่วนหนึ่งมีรูปแบบของชาวมอญหรือลาว คือ จำหลักไม้เก็บคัมภีร์ในอุโบสถ สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร การเปรียญ หอไตร หอระฆัง และเจดีย์ เป็นต้น คำว่าการเปรียญนี้ไม่ทราบที่มาแน่ชัด สันนิษฐานว่า การเปรียญอาจมาจากคำว่า “บา - เรียน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกชั้นต่างๆ ของหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม การเปรียญเป็นเสมือนโรงเรียนสำหรับพระสงฆ์ที่สอนพระให้เปรียญ เดิมนั้นวัดจะมีวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและทำบุญฟังเทศน์ ฟังธรรม รวมทั้งเป็นที่สำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่เมื่อจำนวนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเพิ่มขึ้นคงต้องการสถานที่เพิ่มเติม จึงเกิดคตินิยมในการสร้างการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่เรียนของพระสงฆ์ และประกอบศาสนกิจของสงฆ์กับฆราวาส ต่อมาการศึกษาของพระสงฆ์มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกิดขึ้นแทน การเปรียญจึงเปลี่ยนเป็นที่สำหรับพุทธศาสนิกชนมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ในวันธรรมสวนะ องค์ประกอบที่สำคัญของการเปรียญคือบุษบกธรรมาสน์ สำหรับพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา อาสนสงฆ์ยกพื้นสูง และแท่นที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป เป็นต้น
           ลักษณะทางสถาปัตยกรรม  การเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 7 ห้อง ฐานบัวลักษณะตกท้องช้าง หันข้างไปทางทิศตะวันตก กว้าง 7.24 ม. ยาว 21.45 ม. เป็นสถาปัตยกรรมทรงนิยม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแบบตึกคือทำชายคากุด ทั้งในด้านสกัด (จั่วทั้งหน้า-หลัง) กับด้านข้างอีกสองด้าน หลังเป็นผืนเดียวไม่ซ้อนชั้น ใช้โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก หลังคาทรงจั่ว โครงสร้างเป็นไม้มุงกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วย (กาบู) ปิดชายกระเบื้องด้วยกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม (ปัจจุบันชำรุดเสียหาย ต้องทำโครงหลังคาใหม่โดยใช้สังกะสีมุง) ผนังด้านสกัดก่อต่อเป็นรูปจั่วตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นขึ้นเป็นหน้าบัน รองรับด้วยบัวคอสอง ส่วนขอบหน้าจั่วประดับตัวลำยองปูนปั้น และลวดบัวซึ่งจะอมอยู่ในขอบจั่ว ผนังส่วนที่อยู่ใต้บัวคอสองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน (ด้วยเสาหลอก) ผนังส่วนกลาง (ด้านหน้า) เจาะประตูด้วยช่องสันโค้งแหลม (Pointed Arch) ผนังส่วนกลางด้านหลังทึบ ส่วนแถบผนังอีกสองข้างรองรับปีกนก และเจาะเป็นหน้าต่างด้วยช่องสันโค้งแหลมจำนวน 2 ช่อง (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) ผนังด้านข้างทำเสาหลอกประดับบัวปลายเสา เป็นหน้าต่างด้วยช่องสันโค้งแหลม จำนวนด้านละ 7 ช่อง ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ด้านหลัง เจาะทำเป็นช่องสันโค้งแหลมเพื่อตามประทีปโคมไฟที่ประดับขื่อสูงจรดอกไก่ ไม่มีฝ้าเพดาน พื้นภายในปูอิฐขนาดใหญ่ทับหน้าด้วยปูนทราย และก่ออิฐยกพื้นสูงทำเป็นอาสนะ 3 ด้าน (ด้านหลัง และด้านข้างทั้งสอง) ด้านหน้าทำชานพักและบันไดทางขึ้นสองข้าง
          ปัจุบันโบราณสถานวัดตองปุได้รับการบูรณะแล้ว ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ โดย กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี









-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
-----------------------------------------------------

อ้างอิง : รายการประกอบแบบบูรณะซ่อมแซมการเปรียญวัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี


-----------------------------------------------------
เผยแพร่ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
-----------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 2419 ครั้ง)