...

มนตร์แห่งพระร่วง : มนุษย์ เรือ ทะเล และความมั่นคง
          นับเป็นเวลา ๑๐๐ ปี ที่เรือรบลำหนึ่งเคลื่อนเข้าสู่เขตแดนไทย เมื่อ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ เพื่อทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาความมั่นคงทางทะเลแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และความร่วมมือร่วมใจกันของทุกชนทุกชั้น ทำให้ “เรือหลวงพระร่วง” มิได้เป็นเพียงยุทโธปกรณ์ทันสมัยอันทรงประสิทธิภาพของกองทัพเรือไทยในขณะนั้น แต่ยังเป็นอนุสรณียวัตถุแสดงถึงความสามัคคี ความจงรักภักดี และตระหนักถึงความเป็น “ชาติไทย” ร่วมกันอีกด้วย
          ในเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับเรือรบหลวงพระร่วงนั้น มีส่วนที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่น่าสนใจอยู่ประการหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองรับเรืออย่างยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่ ๗ – ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ในการพระราชพิธีตอนหนึ่ง ปรากฎ “มนตร์สำหรับเรือพระร่วง” ซึ่งพระสงฆ์สวดในพระราชพิธีฉลอง เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ //มนตร์สำหรับเรือพระร่วงเป็นบทสวดภาษาบาลี - ไทย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นบทสวดในพระราชพิธีฉลองรับเรือหลวงพระร่วง เนื้อหาเป็นการผูกเข้ากันระหว่างคติ คำสอนทางพระพุทธศาสนาและการสร้างความมั่นคงของเมือง (การมีเรือหลวงพระร่วง) ความน่าสนใจและความโดดเด่นของ “มนตร์สำหรับเรือพระร่วง” คือ เป็นบทสวดสำหรับพระราชพิธีฉลองเรือหลวงพระร่วงโดยเฉพาะ ทั้งยังมีคำแปลอธิบายความหมายของแต่ละบทเป็นภาษาไทย มีการเปรียบเทียบเปรียบเปรยที่ลึกซึ้ง ซึ่ง “มนตร์สำหรับเรือพระร่วง” ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๗ วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ หน้า๒๓๒๙ – ๒๓๓๒ สะท้อนถึงความพิเศษของ “มนตร์สำหรับเรือพระร่วง” และการเผยแพร่นี้ คงมีจุดประสงค์ที่จะถ่ายทอดความหมายอันลึกซึ้งของ “มนตร์สำหรับเรือพระร่วง” ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป ขอยกตัวอย่างคำแปลบางตอนของ “มนตร์สำหรับเรือพระร่วง” เช่น
๑. “...ชนย่อมข้ามห้วง (คือ กาม เป็นอาทิ) ได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามทเล (คือ สังสารวัฏ) ได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญาฯ ...”
๒. “... ภิกษุ เธอจงวิดเรือ (คือ อัตภาพ) นี้ เรืออันเธอวิดแล้วจักพลันถึง เธอตัดราคะและโทษะเสียแล้ว แต่นั้นจักถึงนิพพานฯ เพราะคำนี้จริง ขอชัยจงมีแด่พระราชาทุกเมื่อ ขอราชนาวีแลคณะผู้ทำร่วม (คือ ราชนาวีสมาคม) จงเป็นผู้ลุฝั่งแห่งความสำเร็จ
๓. “...ผู้มีปัญญา พึงทำเกาะที่ห้วงท่วมไม่ได้ ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความระวัง ด้วยความข่มใจฯ เพราะคำจริงนี้ ขอความมั่งคั่งจงมีในกาลทั้งปวง ขอรัฐะมีอารักขา...”
๔. “...เมืองตั้งอยู่สุดแดนเขาคุ้มครองแล้วทั้งภายในภายนอก ฉันใด สูทั้งหลายจงคุ้มครองตน ฉันนั้น”
๕. “...ถ้าเห็นสุขไพบุลย์ (ว่าพึงมี) เพราะสละสุขมีประมาณน้อยเสีย ปราชญ์มาเหนสุขไพบุลย์ดีอยู่พึงสละสุขมีประมาณน้อยเสียฯ ...”
๖. “...ธรรมนั่นแล ย่อมรักษาชนผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมา นั่นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ชนผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคคติฯ...” ในบทที่กล่าวว่า “...ถ้าเห็นสุขไพบุลย์ (ว่าพึงมี) เพราะสละสุขมีประมาณน้อยเสีย ปราชญ์มาเหนสุขไพบุลย์ดีอยู่พึงสละสุขมีประมาณน้อยเสียฯ ...” นั้น เมื่ออ่านแล้ว อาจไม่สามารถเข้าใจในทันที แต่หากได้อ่าน พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีรับเรือหลวงพระร่วง วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงยกคำกล่าวนี้ขึ้นมาเช่นเดียวกัน และทรงอธิบายแก่ประชาชนทั้งหลายให้เข้าใจได้ง่าย ความว่า

“... ด้วยเหตุว่ามีพุทธดำรัสปรากฎชัดไว้ว่า “เมื่อเล็งเห็นความสุขหรือประโยชน์อันไพบูลย์ คือเห็นประโยชน์ใหญ่แล้ว ควรยอมสละความสุขหรือประโยชน์ส่วนน้อยนั้นเสีย” หมายความว่า เมื่อคำนึงถึงประโยชน์และความสุขอันจะมีหรือได้รับทั่วไปแล้ว ประโยชน์หรือความสุข ส่วนตัวเฉภาะบุคคล ควรยอมสละได้เพื่อรักษาประโยชน์แลความสุขอันใหญ่ ท่านทั้งหลายได้ เต็มใจสละทรัพย์ของท่านในครั้งนี้ เพื่อซื้อเรือรบให้แก่ราชนาวีก็ด้วยมุ่งหมายจะรักษาประโยชน์และ ความสุขใหญ่ คือ ประโยชน์และความสุขของชาติเราทั่วไป”

          มนตร์สำหรับเรือพระร่วงคือการนำสาระทางธรรมมาผูกเป็นบทมนตรา เป็นมนตร์แห่งพระร่วงที่จะชี้นำทางมนุษย์ เปรียบภาพเรือหลวงฝ่าข้ามมหาสมุทรกับภิกษุหรือบุคคลที่จะนำพาตนให้พ้นจากกิเลสและวัฏสังสาร จนถึงสะท้อนภาพความเสียสละร่วมกันของคนอันจะส่งผลต่อความมั่นคงของดินแดน เป็นพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ทรงพระนิพนธ์ได้อย่างสอดคล้องและลุ่มลึก ทั้งยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรือหลวงพระร่วง หากได้อ่านพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพระราชพิธีครั้งนั้นด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์และพระวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน




















-------------------------------------------------------
เรียบเรียง : ไอยคุปต์ ธนบัตร นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
-------------------------------------------------------


เผยแพร่ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 1661 ครั้ง)