...

สถูปดินเผาจำลอง
ชื่อวัตถุ สถูปดินเผาจำลอง ทะเบียน ๒๗/๑๕๓/๒๕๓๒
อายุสมัย สมัยศรีวิชัย วัสดุ ดินเผา ขนาด สูง ๔.๕ เซนติเมตรกว้าง ๔.๕เซนติเมตร
แหล่งที่พบ พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดี ควนสราญรมย์ (ควนพุนพิน, ควนท่าข้าม) ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

          “สถูป” มีพัฒนาการมาจากเนินดินฝังศพหรือสิ่งก่อสร้างเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของบุคคลสำคัญ สำหรับการสร้างสถูปในศาสนาพุทธมีกล่าวถึงในคัมภีร์มหาปรินิพพานสูตรว่า เป็นพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าซึ่งให้สร้างสถูปเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเพื่อเป็นสถานที่ให้ชาวพุทธได้สักการบูชา ต่อมาได้มีการทำสถูปจำลองขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ดังที่ได้กล่าวถึงในบันทึกการเดินทางของหลวงจีนเหี้ยนจัง ซึ่งเดินทางมายังอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ ว่าประชาชนจะสร้างสถูปจำลองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ดังได้พบสถูปดินเผาจำลองที่นาลันทาและพุทธคยา ในประเทศไทยพบสถูปจำลองที่เมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น เมืองโบราณนครปฐม และเมืองโบราณคูเมือง ส่วนในภาคใต้พบสถูปจำลองในถ้ำในเขตจังหวัดยะลาและพบในโบราณสถาน เช่น แหล่งโบราณคดีควนสราญรมณ์(ควนพุนพิน/ควนท่าข้าม) และวัดหลง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่เมืองโบราณยะรังได้พบสถูปจำลองเป็นจำนวนมาก สถูปจำลองในภาคใต้ส่วนใหญ่พบทำจากดินมีทั้งดินดิบและดินเผาและทำจากหิน พบ ๒ รูปแบบ คือ
          - สถูปจำลองที่มีลักษณะองค์ระฆังคล้ายหม้อน้ำและส่วนยอดซ้อนกันคล้ายฉัตร
          - สถูปจำลองที่มีลักษณะองค์ระฆังคล้ายโอคว่ำและส่วนยอดเป็นกรวยแหลม
          การพบสถูปจำลองทั้งในภาคกลางและภาคใต้แสดงให้เห็นถึงคติในการทำสถูปจำลองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาซึ่งเป็นคติที่รับมาจากอินเดีย อมรา ศรีสุชาติ เสนอข้อคิดเห็นว่า การพบสถูปจำลองเป็นจำนวนมากที่เมืองโบราณยะรังเป็นหลักฐานของการนับถือศาสนาพุทธมหายาน นิกายไจตยะหรือเจติยวาท อันเป็นนิกายที่เน้นการบูชาเจดีย์ซึ่งมีหลักธรรมคำสอนที่สำคัญว่าการสร้างเจดีย์ การประดับเจดีย์ และการบูชาเจดีย์เป็นบ่อเกิดแห่งบุญอันใหญ่หลวง “สถูปดินเผาจำลอง” จึงเป็นหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่แสดงถึงคติในพระพุทธศาสนาของคนในภาคใต้











-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
- นิตยา กนกมงคล. “สถูปทรงหม้อน้ำ ศิลปะทวารวดีที่พบในเขตภาคกลางของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศษสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗. - ผาสุขอินทราวุฒิ. “คติความเชื่อของชาวพุทธในรัฐทวารวดี,” เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่องพัฒนาการทางโบราณคดี. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ อักษรสมัย, ๒๕๔๒. - อมรา ศรีสุชาติ. “ยะรัง : ชุมชนโบราณ,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ (๒๕๔๒): ๖๒๔๕ – ๖๒๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 1477 ครั้ง)


Messenger