...

แรกมีปูนซีเมนต์ใช้ในประเทศไทย
          ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุฉาบที่มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ หินปูน ดินเหนียว ซิลิก้า อลูมินา สินแร่เหล็ก ยิปซั่ม และสารประกอบอื่นๆ เพื่อช่วยให้ปูนนั้นมีคุณสมบัติเฉพาะที่ตอบสนองงานก่อสร้างในลักษณะต่างๆ ซื่อ เรียก ซีเมนต์(cement) มีที่มาจากภาษาโรมันว่า opus caementicium หลังจากนั้น ระหว่าง พ.ศ.๒๓๕๔ - ๒๓๖๗ โจเซฟ แอสป์ดิน(Joseph Aspdin) ชาวอังกฤษ ได้คิดค้นสูตรของวัสดุฉาบ อันเป็นส่วนผสมระหว่างหินปูนและดินเหนียว นำไปเผาและบดเป็นผง โดยเมื่อใช้งานต้องผสมทราย กรวด และน้ำ วัสดุฉาบที่คิดค้นขึ้นนี้มีสีเหมือนหินที่เกาะพอร์ตแลนด์ในอังกฤษ เมื่อจดสิทธิบัตรจึงมีชื่อว่า พอร์ตแลนด์ซีเมนต์ (Portland cement) 
          ในประเทศไทย นับแต่อดีตปรากฏหลักฐานการใช้วัสดุฉาบในงานก่อสร้างอาคารศาสนสถานอิฐคือ ปูนหมัก ที่มีส่วนผสมของหินปูน เปลือกหอย ทราย กาว เส้นใย นอกจากนี้ ในงานนิพนธ์ สาส์นสมเด็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระบุถึงการใช้วัสดุฉาบสิ่งก่อสร้าง ในบางท้องถิ่น เช่นที่ชลบุรี ว่า “...ที่เมืองชล เขาขุดเอาดินชนิดหนึ่งมาผสมกับปูนขาวและทราย ใช้ก่อก้อนหินเป็นผนังตึก และปั้นเป็นแผ่นอิฐก่อกำแพงก็มี ดินชนิดนั้นเรียกว่า ดินโคก ว่าขุดหาได้ตามโคก คือ ซีเมนต์เรานี่เอง ซีเมนต์ธรรมชาติไม่ว่า สิ่งใดๆคงจะได้ของธรรมชาติมาใช้ก่อน...”  ส่วนการนำปูนซีเมนต์จากตะวันตกเข้ามาใช้ในงานก่อสร้างนั้น พ่อค้าจีนที่กรุงเทพฯได้นำเข้าซีเมนต์จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศในการนำปูนซีเมนต์เข้ามาใช้ในการก่อสร้างของไทย โดยมุ่งใช้วัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์เป็น “...เป็นของที่หาได้ในประเทศสยามทั้งสิ้น นอกจากถ่านหินและจิบสัม (Gyp – sum) ดินเหนียวก็ขุดมาจากคลองที่อยู่ติดกับโรงงาน (บางซื่อ)...ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ หินปูน(Mort) ซึ่งใช้วิธีขุดด้วยมือจากตำบลบ้านหมอและขนลงมาบางซื่อโดยรถไฟ..” ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีปูนซีเมนต์ที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบในประเทศนับแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๘ จนถึงปัจจุบัน


(ล่าง – ซ้าย) โรงงานผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้ซีเมนต์เป็นวัสดุในการผลิตซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดยฉูหยุน(Choo Yoon) พ่อค้าจีน(คนในบังคับของอังกฤษ) (ล่าง – ขวา) ฉูหยุน(Choo Yoon) พ่อค้าจีน(คนในบังคับของอังกฤษ) (บน) ภายในโรงงานผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ของฉูหยุน บริเวณวัดสระเกศ


บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่บางซื่อ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๕


-------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กองโบราณคดี
-------------------------------------------------
อ้างอิง
- ที่มา https://wikipedia.org>wiki>:cement สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๓.
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.สาส์นสมเด็จ (พ.ศ.๒๔๗๕ – ๒๔๗๗) (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, ๒๔๙๙) หน้า ๖๘๑.
- บริษัท ปูยซีเมนต์ไทย จำกัด. การทำปูนสิเมนต์ในสยาม ข่าวช่าง ฉบับพิเศษ เนื่องในงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ หน้า ๗๘ – ๗๙ และหน้า ๘๐ – ๘๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 2852 ครั้ง)


Messenger