...

อุษา: เทวีแสงเงินแสงทองแห่งยุคพระเวท
          ยุคพระเวท เป็นยุคที่มีการรวบรวมพระเวท ที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ประกอบด้วย 3 คัมภีร์หลัก คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท คัมภีร์ส่วนที่เก่าที่สุดที่รวบรวมครั้งนี้ คือ “ฤคเวท” ซึ่งในเนื้อหาของฤคเวทเป็นการสรรเสริญและจัดแบ่งเทพเหล่านี้ออกเป็น 3 หมวดหมู่ ประกอบด้วย เทพประจาท้องฟ้า เทพประจาบรรยากาศ และเทพประจาพื้นดิน โดยเทพเหล่านี้ส่วนใหญ่ เป็นบุคลาธิษฐานของธรรมชาติต่างๆ อุษา เป็นเทวีที่จัดอยู่ในกลุ่มเทพประจาท้องฟ้าที่เป็นบุคลาธิษฐานของแสงเงินแสงทองบนท้องฟ้ายามรุ่งอรุณ ทรงเป็นธิดาของเทพแห่งท้องฟ้านามว่าทยาอุสหรือทโยส เป็นพี่น้องกับราตรีและอัคนิ เป็นชายาแห่งสุริยะ และยังมีความเกี่ยวข้องกับเทพอัศวินอีกด้วย
          คัมภีร์ฤคเวทได้กล่าวถึงลักษณะของนางว่าเป็นหญิงสาวที่มีรูปโฉมงดงามและอ่อนเยาว์อยู่เสมอเพราะเกิดใหม่อยู่ตลอด ทรงยิ้มเป็นนิตย์ มีรัศมีสว่างสดใส เปลือยอก และสวมอาภรณ์สีกุหลาบ นางมักประทับอยู่บนราชรถสีทองที่เทียมด้วยม้าและวัวสีแดงคล้ายกับสีแห่งแสงยามอรุณรุ่ง ถือคันธนูพร้อมลูกศร และมักปรากฏกายขึ้นทางทิศตะวันออกเสมอ
          เนื่องจากอุษาเป็นเทวีแห่งแสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ นางจึงมีบทบาทหลักในการขจัดความมืดมิดและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง เช่น ฝันร้าย วิญญาณชั่วร้าย โดยการประทานแสงสว่างในยามเช้า เพื่อปลุกผู้คนและเหล่าสรรพสัตว์ให้ตื่นขึ้นจากภวังค์เพื่อดาเนินชีวิต นอกจากการขจัดความมืดมิดและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ แล้ว นางยังสามารถประทานทรัพย์สินเงินทอง บุตร ความรุ่งโรจน์ ความปลอดภัย รวมไปถึงอายุขัยที่ยืนยาวให้แก่ผู้สักการบูชาได้อีกด้วย
          ไม่เพียงแต่อุษาจะปรากฏหลักฐานในศาสนาพราหมณ์ช่วงยุคพระเวทเท่านั้น ในส่วนของศาสนาและลัทธิอื่นๆ อุษาก็ปรากฏร่องรอยด้วยเช่นกัน อาทิ พุทธศาสนาของจีนและทิเบตปรากฏในชื่อ เทพธิดามาริจี ที่มีบทสวดที่ใช้สรรเสริญบูชาท่านในยามที่ดวงอาทิตย์ขึ้น หากเป็นลัทธิเต๋า อุษาจะปรากฏในชื่อพระดาริกานภาธิราชซึ่งมีฐานะเป็นพระแม่แห่งดวงดาวทั้งปวงและเป็นพระมารดาแห่งดาวนพเคราะห์ในพิธีถือศีลทานเจในเดือน 9 อีกด้วย 


--------------------------------------------------------
เรียบเรียง : นายวัชวิศ ศานติธรรม นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร
---------------------------------------------------------

อ้างอิง
ภาษาไทย
จิรัสสา คชาชีวะ. โบราณคดีอินเดีย. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2559. จาลอง สารพัดนึก. วรรณกรรมพระเวท. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522. บุญชอบ ยี่สาร. “การศึกษาวิเคราะห์เทพแห่งแสงสว่างในวรรณคดีพระเวท.” วิทยานิพนธ์ปริญญา อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531. ผาสุข อินทราวุธ. ศาสนาฮินดูและประติมานวิทยา. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2520. พระมหาจาลอง ภูริปญฺโญ. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระเวท. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2511. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เทพเจ้าและสิ่งน่ารู้. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2556. สุรศักดิ์ ทอง. สยามเทวะ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553. อุดม รุ่งเรืองศรี. เทวดาพระเวท (เทพเจ้าในคัมภีร์พระเวทแห่งชาวอารยัน). เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2523.

ภาษาอังกฤษ
Hackin, J., and other. Asiatic mythology: a detailed descriptive and explanation of the mythologies of all the Great Nations of Asia. London: George G. Harrap, 1932. Hillebrandt, Alfred. Vedic mythology. Delhi: Motilal Banarsidass, 1980-1981. Macdomell, Arthur Anthony. A Vedic reader for student. Oxford: Clarendon press, 1917.

*ภาพประกอบ : ภาพสันนิษฐานของเทวีอุษา (ที่มาภาพ:จากอินเทอร์เน็ต)

(จำนวนผู้เข้าชม 6035 ครั้ง)