...

อับเฉาเรือ ประติมากรรมจีนในวัดวาอาราม

          ความหมายของคำว่า "อับเฉา" สามารถจำแนกได้ 3 ความหมาย ความหมายที่ 1 หมายถึง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน ความหมายที่ 2 หมายถึง ของถ่วงเรือสำเภาเพื่อกันเรือโคลงซึ่งอาจเป็นหินและทราย หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่มีน้ำหนักมาก เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า เอี๊ยบชึง แปลว่าของหนักที่ใช้ถ่วงใต้ท้องเรือเดินทะเล ความหมายที่ 3 หมายถึงจะใช้ระบบของน้ำอับเฉา (Ships’ Ballast Water) เพื่อปรับจุดศูนย์ถ่วงให้เรือสามารถทรงตัวได้ดี
          อับเฉา ยังเป็นชื่อเรียกกลุ่มประติมากรรมหินศิลปะจีนที่พบได้ทั่วไปตามวัดวาอารามและสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1 -รัชกาลที่ 3) สยามได้ทำการค้ากับจีน มีการบรรทุกสินค้า ที่มีน้ำหนักมาก เช่น เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว ไม้ งาช้าง หนังสัตว์ และข้าว ไปขายยังจีน เมื่อขนถ่ายสินค้าออกจากเรือแล้ว ได้ซื้อสินค้าจากจีนกลับมา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเบา เมื่อเดินทางออกทะเลทำให้เรือโคลง จึงได้ซื้อประติมากรรมศิลา ซึ่งแกะสลักเป็นรูปต่างๆ เช่น เทพ ทวารบาล คน และสัตว์ เพื่อใช้ถ่วงน้ำหนักเรือไม่ให้เรือโคลงเมื่อออกทะเล และเมื่อนำกลับมาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประดับตกแต่งสถานที่ หรืออาคารต่างๆ ให้สวยงามได้








-------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล :พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จันทบุรี
------------------------------------------------

อ้างอิง
1.ประติมากรรมศิลาจีนกับความนิยมศิลาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์ เอกสารประกอบโครงการประชุมวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องในโอกาสครอบรอบ 40 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2557
2.เปรมวดี วิเชียรสรรค์.อับเฉา:ประติมากรรมเครื่องศิลาของจีนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม.2527
3.กรมศิลปากร.โบราณคดีสีคราม.โครงการโบราณคดีใต้น้ำ งานโบราณคดีใต้น้ำ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ,2531
4.ไขแสง สุขะวัฒนะ.ประวัติศาสตร์ไทย ภาค 2 สวนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3,คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2522 5.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544

(จำนวนผู้เข้าชม 6806 ครั้ง)


Messenger