...

เล่าเรื่องประติมานวิทยา : กาลราตรี (Kālarātrī)
          นามของเทวีผู้เป็นบุคคลาธิษฐานแห่งเวลา 1 ใน 9 ภาคของเทวีทุรคา (นวทุรคา-Navadurgā) ซึ่งได้รับการบูชาในเทศกาลนวราตรี (Navarātrī) ในวันที่ 7 ซึ่งเป็นที่นับถือในศาสนาฮินดูลัทธิตันตระ พระนามหมายถึง “ราตรีที่มืดมิด" คำว่า “กาล” มีความหมายถึงเวลา หรือ ความมืดดำ ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งคืนสุดท้ายของยุค เมื่อโลกถูกทำลายจากกาลเวลา แสดงถึงพลังอำนาจที่นำมาซึ่งทำลายล้างจักรวาลในตอนท้ายแห่งยุค เป็นที่รู้จักในนาม กาลี (Kālī) และ กาลิกา (Kālikā) นอกจากนี้ ยังจัดเป็น 1 ในมหาวิทยา (Mahāvidyas) หรือกลุ่มเทวี 10 องค์ ผู้ทรงปัญญาอันยิ่งใหญ่ และเป็นตัวแทนของ ไภรวี (Bhairavī) ศักติของไภรวะ (Bhairava)
          พระนางมีผิวดำดุจดั่งราตรี เดิมคงเป็นเทพีของชนพื้นเมืองอินเดียที่มีผิวสีดำ พระพักตร์ดุร้าย พระเกศายุ่งสยายเป็นกระเซิง มี 3 เนตร 4 กร ถือขวาน และสายฟ้า (เปลวเพลิง) อีก 2 กร แสดงอภัยมุทรา (abhayamudrā-ปางประทานอภัย) และวรทมุทรา (Varamudrā-ปางประทานพร) ยังกล่าวอีกว่า สัญลักษณ์ของพระนางคือ วีณา (พิณ-vīṇa) ดอกชบา (Javā flower หรือ China Rose) ถ้วยบรรจุเลือด และพวงมาลาหัวกะโหลก (มุณฑมาลา-muṇḍamālā) รูปพระนางทำเปลือยกาย (นคนะ-nagna) เป็นสัญลักษณ์ของกาลเวลาที่ทำลายทุกสิ่ง บางครั้งสวมเครื่องประดับเหล็กแหลมที่ข้อเท้าซ้าย และทรงลา (ครรทภะ-gardabha) เป็นพาหนะ แสดงความเกี่ยวเนื่องกับ ชเยษฐา (Jyeṣṭhā-เทวีแห่งอัปมงคล) หรือ ศีตลา (Śītalā-เทวีแห่งไข้ฝีดาษ) จัดเป็นรูปแบบของพระเทวีที่แสดงออกถึงความรุนแรงและทรงพลังที่สุดในการปราบอสูรและความชั่วร้ายทั้งปวง อันเป็นสัญลักษณ์ของอวิชาและความโง่เขลา





-------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 
-------------------------------------------

อ้างอิง
1. Trilok Chandra Majupuria and Rohit Kumar Majuria, Gods, Goddesses & Religious Symbols of Hinduism, Buddhism & Tantrism [Including Tibetan Deities] (Lashkar (Gwalior): M. Devi, 2004), 121.
2. Gösta Liebert, Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism (Leiden: E.J. Brill, 1976), 117.
3. Stutley , Margaret, The illustrated dictionary of Hindu iconography (London : Routledae & Kegan Paul, 1985), 63.

(จำนวนผู้เข้าชม 1480 ครั้ง)


Messenger