...

เล่าเรื่องประติมานวิทยา: อภย(หัสตะ)มุทรา (Abhya(hasta)-mudrā)
          อภยมุทรา หรือ อภยหัสตะ คือ ท่ามือยกขึ้นในระดับไหล่ ยื่นออกมาข้างหน้า หันฝ่ามือออก นิ้วทั้งห้าเหยียดตรงขึ้น เป็นท่าขจัดความหวาดกลัว เพราะแสดงการขับไล่สิ่งชั่วร้าย และป้องกันอันตรายของเทพเจ้าต่อผู้สักการบูชา ท่ามือดังกล่าวนี้ แสดงด้วยมือข้างขวา แทบไม่ปรากฏเลยในมือข้างซ้าย บางครั้งแสดงด้วยมือทั้งสองข้าง จัดเป็นมุทราทั่วไปของเทพและทิพยบุคคลต่าง ๆ ในทุกศาสนาของอินเดีย เทพเจ้าส่วนใหญ่แสดงมุทราดังกล่าวนี้
          อาจเป็นไปได้ว่ากำเนิดของมุทรานี้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง บางครั้งพบในศิลปะโรมัน รวมถึงในศิลปะคริสเตียน ในประเทศอินเดียจัดเป็นมุทราในยุคต้น ๆ นิยมทำในศิลปะคันธารราฐเนื่องในพุทธศาสนา แสดงในพระพุทธรูปปางแสดงธรรม ภายหลังแสดงในปางปราบช้างนาฬาคีรี ต่อมามีพัฒนาการทางความหมายหมายถึงการปกป้องคุ้มครอง เป็นลักษณะเฉพาะของรูปเคารพในพุทธศาสนาบางองค์ เช่น พระอโมฆสิทธิ (Amoghasiddhi) พระทีปังกร (Dipaṅkara) พระกนกมุนี (Kanakamuni) อโมฆปาศ (Amoghapāśa) อารยชางคุลี (Āryajāṅgulī) นามสังคีติ (Nāmasaṅgīti) ปัทมปาณิ (Padmapaṇi) ศิขิน (Śikhin) สิตาตปัตรา (Sitātapatrā) สุปริกีรติตนามศรี (Suparikīrtitanāmaśrī) อุษณีสวิชยา (Uṣṇīsavijayā) และอื่น ๆ
           ในศาสนาฮินดู เป็นลักษณะของพระวิษณุ (Viṣṇu) ผู้ปกป้องระบบจักรวาล (อนันตาศายน-Anantāśayana) และพระศิวะนาฏราช (Śiva Nāṭarāja) ในท่าอนันทตาณฑวะ (Ānandatāṇḍava) และท่าเต้นรำอื่น ๆ มีความหมายถึงการปกป้องรักษาจักรวาล ในความหมายที่แคบลง เทพ และเทวีต่าง ๆ แสดงมุทรานี้ เพื่อแสดงการปกป้อง และแสดงความสง่างาม
          อภยมุทรา เรียกอีกว่า อภยนททมุทรา (Abhyandada-mudrā) อภยประทานมุทรา (Abhyapratāna-mudrā) อภีติมุทรา (Abhīti-mudrā) ศานติทมุทรา (Śāntida-mudrā) และ วิศวาภยมุทรา (Viśvabhya-mudrā) บางครั้งจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของ ปตากามุทรา (Patākā-mudrā) หรือ “มือรูปธง”










------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
------------------------------------------

หนังสืออ้างอิง
1. Gupte, Ramesh Shankar. Iconography of the Hindus, Buddhists and Jains. Bombay : D.B. Taraporevala, 1980.
2. Liebert, Gosta. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976.
3. Stutley , Margaret. The illustrated dictionary of Hindu iconography. London : Routledae & Kegan Paul, 1985. 4. Trilok Chandra Majupuria and Rohit Kumar Majuria. Gods, Goddesses & Religious Symbols of Hinduism, Buddhism & Tantrism [Including Tibetan Deities]. Lashkar (Gwalior): M. Devi, 2004.

(จำนวนผู้เข้าชม 3288 ครั้ง)


Messenger