...

โบราณสถานศาลตาผาแดง
          โบราณสถานศาลตาผาแดงตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองสุโขทัยติดกับตระพังตระกวน วัดสระศรี ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และใกล้กับประตูเมืองด้านเหนือ ปรากฏหลักฐานในแผนที่สมัย รัชกาลที่ ๕ เรียกว่า ศาลเทพารักษ์ใหญ่ หรือศาลตาผ้าแดง
          ลักษณะโบราณสถานเป็นแบบปราสาทขอม หลังเดี่ยว ก่อด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ส่วนล่างเป็นฐานบัวลูกฟัก ส่วนเรือนธาตุมีห้องยาว ยื่นออกไปจากตัวปราสาททางด้านตะวันออกและตะวันตก โดยห้องด้านตะวันออกมีความยาวกว่าด้านตรงข้าม ส่วนยอดปราสาทพังทลาย
          เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลตาผาแดง ได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมรูปเคารพสลักจากศิลาลอยตัว จำนวน ๔ องค์ มีทั้งรูปบุรุษและสตรี สันนิษฐานว่าเป็นรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู อาทิ พระศิวะ นางอัปสร และทวารบาล ประดับด้วยเครื่องทรงตกแต่งอย่างงดงาม เมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้วอาจเทียบได้กับศิลปะแบบเขมรสมัยบายนตอนต้น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย
          โบราณสถานแห่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันถึง การมีชุมชนที่มีวัฒนธรรมเขมรนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปะปนในแถบนี้แล้ว เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘










--------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

(จำนวนผู้เข้าชม 4524 ครั้ง)