...

โบราณสถานวัดสรศักดิ์
          วัดสรศักดิ์ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองสุโขทัยด้านเหนือ บริเวณใกล้กันกับศาลตาผาแดง วัดตระพังสอ และวัดซ่อนข้าว ณ วัดแห่งนี้ได้ค้นพบศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ กล่าวว่า นายอินทสรศักดิ์ได้ขอพระราชทานที่ดิน ขนาดกว้าง ๑๕ วา ยาว ๓๐ วา จากออกญาธรรมราชา เจ้าเมืองสุโขทัยในขณะนั้น เพื่อสร้างอารามถวาย ครั้นสร้างสำเร็จแล้วจึงให้นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ จากตำบลดาวขอน ผู้เป็นน้าของออกญาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัย ให้มาจำพรรษาที่วัดนี้ด้วย

          ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๕๙ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ขณะยังทรงพระเยาว์ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล พร้อมพระราชมารดาและพระมาตุจฉา (น้า) ที่เมืองสุโขทัย การเสด็จคราวนี้พระมาตุจฉาได้เสด็จเข้าพำนักยังพระตำหนักหัวสนามเก่าด้านทิศตะวันตกติดกับวัดสรศักดิ์ ความในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ตอนนี้เองที่ช่วยชี้ตำแหน่งของพระตำหนักหรือวังของเจ้านาย ตลอดถึงกษัตริย์ของสุโขทัยว่าควรจะอยู่ตรงบริเวณทิศตะวันตกของวัดสรศักดิ์เหนือศาลตาผาแดง และที่ปัจจุบันเป็นถนนจากวัดมหาธาตุ ผ่านระหว่างศาลตาผาแดง วัดสรศักดิ์ และพระตำหนักสู่ประตูศาลหลวงด้านทิศเหนือนี้ คือ “สนาม” ที่กล่าวถึงในจารึกวัดสรศักดิ์


          ลักษณะเด่นของวัดนี้คือ มีเจดีย์ประธานทรงระฆัง หรือทรงลังกาอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้างมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงระฆังกลมที่มีช้างล้อมรอบฐาน ตามความเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์พาหนะของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ที่คู่ควรกับการเป็นพาหนะค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตลอด ๕,๐๐๐ ปี


ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

(จำนวนผู้เข้าชม 2749 ครั้ง)