...

พระพุทธรูปดุนเงินในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย
          พระพุทธรูปอีกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในศิลปะแบบหริภุญไชยนอกจากพระพิมพ์ซึ่งทำจากจากดินเผาและโลหะเช่น สำริด แล้ว ยังพบการนำเงิน (Silver) ซึ่งเป็นโลหะมีค่าชนิดหนึ่ง นอกจากนำมาทำรูปเคารพแล้ว ยังมีการนำไปทำเครื่องประดับ ภาชนะ หรือใช้ทำเงินตรา เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระพุทธรูปดุนเงินนี้นอกจากที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยแล้ว ยังพบในบริเวณอื่น เช่น เวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับเมืองหริภุญไชย นักวิชาการหลายท่านได้ทำกรศึกษาต่างจัดให้พระพุทธรูปดุนเงินเหล่านี้อยู่ในศิลปะหริภุญไชยตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
          ดุน จากพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เป็นลักษณะงานศิลปกรรมประเภทหนึ่ง ทำโดยวิธีรุนให้ลวดลายหรือภาพนูนสูงขึ้นจากพื้นผิว โดยทั่วไปใช้กับโลหะ เช่น ทอง เงิน ทองแดง นอกจากการดุนแล้ว การที่จะให้เกิดลวดลายบนพื้นผิวมีความคมชัดมากขึ้นจำต้องอาศัยการสลักโดยการทำให้ส่วนพื้นลึกต่ำลงควบคู่กับการดุน จะทำให้ลายที่ดุนมาจากด้านหนึ่งเด่นชัดขึ้นมา เรียกว่าการสลักดุน
          พระพุทธรูปดุนเงินในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย รับมอบจากวัดพระธาตุหริภุญไชย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ส่วนมากมีสภาพชำรุด พระเศียรและพระวรกายแยกจากกัน มีทั้งที่ครองจีวรและทรงเครื่อง แสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรแบบเห็นฝ่าพระบาทสองข้างชัดเจน ปัจจุบันพระพุทธรูปทั้งหมดจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย นิทรรศการถาวร ห้องหริภุญไชย รากฐานล้านนา





















ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

อ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการและความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556. ---สุรพล ดำริกุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1082 ครั้ง)


Messenger