พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเอกาทศมุข ปางสมันตมุข
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเอกาทศมุข ปางสมันตมุข
วัสดุ สำริด อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 16
พบที่ พังปริง บ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
















          พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มี 11 เศียร (เอกาทศมุข) 22 กร พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม สวมกระบังหน้า พระกรรณสวมกุณฑลใหญ่เป็นช่อปลายแหลม เหนือกระบังหน้าปรากฏพระพักตร์หรือพระเศียรขนาดเล็กจำนวน 10 เศียร โดยเรียงซ้อนกันสองชั้น แถวล่างมี 7 เศียร และ แถวบนมี 3 เศียร ลักษณะประติมากรรมทรงพระภูษาสั้นเหนือพระชานุ พระภูษาจีบเป็นริ้ว คาดปั้นเหน่งทับ ชักขอบชายภูษาด้านบนแผ่ออกมาเป็นวงโค้งแผ่นใหญ่ใต้พระนาภี มีการขมวดผ้าไว้ด้านซ้ายและทิ้งชายภูษาเป็นรูปหางปลา คล้ายรูปสมอเรือ ห้อยลดหลั่นลงมาด้านหน้า 2 ชั้น พระกรทั้ง 22 ไม่ปรากฏว่าถือสัญลักษณ์ใด ทรงยืนเหนือฐานบัวซึ่งตั้งอยู่บนฐานทรงกลม
          ในส่วนของประติมานวิทยา "11 เศียร" หรือ "เอกาทศมุข" ถือเป็นรูปแบบที่สำคัญแบบหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ สร้างขึ้นในคติพระพุทธศาสนาแบบวัชรยาน หรือตันตรยานที่ให้ความสำคัญกับพระอาทิพุทธ พระธยานิพุทธ และพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งจะปรากฏในรูปแบบหลายเศียรและหลายกร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรก็เช่นกัน เชื่อว่ารูปปรากฏนี้มีหน้าที่ตรวจดูแลรักษาสัตว์โลกทั่วทุกทิศ โดยสามารถมีพระกรได้มากถึง 1,000 กร //ประติมากรรมองค์นี้มีชื่อว่า "สมันตมุข" แปลว่า "มีพระพักตร์รอบทิศหรือพระผู้เห็นได้รอบ" โดยมีความหมายสอดคล้องกับข้อความที่ปรากฏหลักฐานในสัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 24 กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ว่าทรงดูแลสรรพสัตว์ทุกภพทุกภูมิ ทุกทิศานุทิศ ช่วยเหลือให้พ้นจากมหันตภัยนานัปการ นอกจากนี้ ในบทที่ 25 ซึ่งเรียกว่า "สมันตมุข" อันเป็นบทสรรเสริญพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ได้กล่าวว่าพระองค์มีกายถึง 32 กาย เพื่อรับใช้สรรพสัตว์ให้พ้นจากภัยอันตรายใหญ่ 8 ประการ ได้แก่ โจรภัย อัคคีภัย มหาวาตภัย ภัยจากเรือล่ม ราชภัย ภัยจากสัตว์ร้าย และภัยจากมนุษย์ (ยักษ์ รากษส ปีศาจ)
          ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ปรากฏรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหลายรูปแบบผ่านการนับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยานหรือตันตรยาน โดยนิกายดังกล่าวได้เข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปะและวัฒนธรรมของผู้คนในคาบสมุทรสทิงพระ และดินแดนใกล้เคียงเป็นอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 - 15 อันเป็นช่วงที่เมืองสทิงพระมีความเจริญรุ่งเรืองจากการเป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในรูปแบบดังกล่าว กลับปรากฏน้อยมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการศึกษาของ Phillip Scott Ellis Green ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร History of Religions โดย The University of Chicago Press ระบุว่า พบประติมากรรมพระโพธิสัตว์ในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 มีจำนวนทั้งสิ้น 4 องค์ ได้แก่ 1. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงยืน 11 เศียร 22 กร อันมีรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมสมัยเกาะแกร์ (Koh Ker) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 พบที่ บ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 2. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทรงยืน 11 เศียร 4 กร ไม่ทราบที่มา กำหนดอายุอยู่ในศิลปะขอมแบบคลัง (Khleang) ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเอกชน 3. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทรงยืน 11 เศียร 4 กร ไม่ทราบที่มา ศิลปะขอมกำหนดอายุในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ข้อมูลระบุว่าถูกขายด้วยการประมูลโดยบริษัท คริสตีส์ (Christie's art) 4. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 11 เศียร 22 กร ทว่าอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะขอม อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 ซึ่งถูกซื้อโดย The Metropolitan Museum of Art เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
          จากการพิจารณารูปแบบของศิลปกรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเอกาทศมุขปางสมันตมุข พบว่ามีอิทธิพลทางศิลปะแบบผสมผสานได้แก่ ลักษณะการจัดพระภูษาดังกล่าวมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศิลปะขอมแบบบาแค็ง (Bakheng) ต่อเนื่องถึงสมัยเกาะแกร์ (Koh Ker) ราวกลาง - ปลายพุทธศตวรรษที่ 15 แต่การประทับยืนบนฐานทรงกลม มีกลีบบัวรองรับ เป็นลักษณะเฉพาะของฐานแบบศรีวิชัย อันเจริญรุ่งเรืองในคาบสมุทรมลายูระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13 - 16 สอดคล้องกับสถานที่พบในคาบสมุทรสทิงพระ ในฐานะที่เป็นเมืองท่ารับและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมจากภายนอก //ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการตรวจสอบคติการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา พบว่าในพุทธศตวรรษที่ 15 ได้เริ่มมีการอุปถัมภ์พุทธศาสนา กระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511 - 1544) ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาลัทธิมหายานอย่างเปิดเผย ปรากฏหลักฐานจารึกปราสาทพนมบันทายนาง ในปี พ.ศ. 1523 ก็ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นอกจากนี้ยังได้พบยันตร์ ในพุทธศาสนานิกายตันตรยาน เป็นต้นว่ายันตร์ที่สลักอยู่บนแผ่นหินภายในปราสาทบัตชุม แสดงให้เห็นว่านิกายดังกล่าวปรากฏอยู่แล้วที่เมืองพระนครตั้งแต่ พ.ศ. 1496 ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบและอายุสมัยอันใกล้เคียงกันของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเอกาทศมุขอีก 3 องค์ที่เหลือ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าประติมากรรมองค์นี้ มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 และไม่น่าจะเกินพุทธศตวรรษที่ 18 โดยอาจเป็นการนำเข้ามาภายใต้การติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าและการทูต แล้วจึงต่อเติมส่วนฐานแบบศรีวิชัยในภายหลัง
....................................................................................
โอม มณี ปัทเม หุม : ดวงแก้วที่อุบัติขึ้นในดอกบัว บทสรรเสริญพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
....................................................................................

เรียบเรียง/ กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ/ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

อ้างอิง :
1. ชัยวุฒิ พิยะกูล. พระพุทธศาสนาบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ. ใน พระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมโม). ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์. 205 - 236. สงขลา: วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (พระอารามหลวง), 2562. 2. ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2543. 3. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2523. 4. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. ปฐมบทพระพุทธศาสนาในภาคใต้ ประเทศไทย: หลักธรรมและหลักฐานโบราณคดี. นครศรีธรรมราช: ไทม์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2557. 5. สุพจน์ พรหมมาโนช. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 11 เศียร 22 กร ที่พังปริง ตำบลวัดขนุน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522. 6.สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปะขอม. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2539. 7. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549. 8. องอาจ ศรียะพันธ์. รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533. 9. Phillip Scott Ellis Green. "The Many Faces of Lokesvara: Tantric Connections in Cambodia and Campa Between The Tenth and Thirteenth Centuries" History of Religions 54, 1 (August 2014): 69-93.

อ้างอิงรูปภาพ : พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 11 เศียร 4 กร ประทับยืน ที่มา : tumblr.com/Boran Asian Art. Ekadasamukha Avalokitesvara. Accesed April 9, 2020. Available from https://boranbkk.tumblr.com/post/53927783948/a-very-handsome-rare-example-of-a-10th-century พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 11 เศียร 22 กร ประทับนั่ง ที่มา : The Metropolitan Museum of Art . Eleven-Headed Avalokiteshvara, the Bodhisattva of Infinite Compassion. Accesed April 9, 2020. Available from https://www.metmuseum.org/art/collection/search/38959

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาได้ที่ https://m.facebook.com/media/set/?set=a.3039042366159678&type=3

(จำนวนผู้เข้าชม 2712 ครั้ง)