...

พระพิมพ์ดินเผาแสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์”
พระพิมพ์ดินเผาแสดงภาพพุทธประวัติ ตอน “มหาปาฏิหาริย์”
มีจารึกคาถาเย ธมฺมา
จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง



          พระพิมพ์ดินเผาสันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอนมหาปาฏิหาริย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี โดยประทับบนดอกบัวที่เนรมิตขึ้นโดยราชานาคนันทะและอุปนันทะ มีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาทั้งหลายลงมาเฝ้า //รูปแบบศิลปกรรมเป็นพระพิมพ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าทำรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิราบบนดอกบัว มีรูปบุคคลถือก้านบัวอยู่ด้านล่างสันนิษฐานว่าเป็นราชานาค ชื่อนันทะ และอุปนันทะ แวดล้อมด้วยรูปบุคคลต่างๆ สันนิษฐานว่าคือพระอินทร์ พระพรหมและเหล่าเทวดา ด้านบนสุดที่มุมทั้ง ๒ ด้านมีรูปบุคคลอยู่ในวงกลม สันนิษฐานว่าคือพระอาทิตย์และพระจันทร์ ด้านหลังพระพิมพ์จารึกคาถาเย ธมฺมา ด้วยตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ด้วยลายมือเขียน ความว่า 
“เย ธมฺมา เหตุปปฺภวาเยสํเหตุํตถาคโต อาห เตสญฺจโย นิโร โธเอวํ วาที มหาสมโณ” 
แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุเหล่านั้น 

          เมื่อสิ้นเหตุเหล่านั้นจึงจักดับทุกข์ได้ พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้เสมอ” คาถาเย ธมฺมา ถือเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นคาถาที่สรุปใจความสำคัญของอริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอาไว้ครบถ้วน และยังเป็นคาถาที่พระอัสชิหนึ่งในปัญจวัคคีย์ตรัสแก่พระสารีบุตรจนเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนา และชักชวนสหายคือพระโมคคัลลานะออกผนวช จนได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า จึงเชื่อกันว่าคาถาเย ธมฺมา สามารถทำให้คนนอกศาสนา เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา แม้กระทั่งอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้ายยังออกผนวชด้วยคาถาบทนี้ สมัยทวารวดีจึงนิยมจารึกคาถาเย ธมฺมา ไว้บนพระพิมพ์เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาด้วย
          พระพิมพ์ดินเผารูปแบบดังกล่าวถึงนี้ จัดเป็นพระพิมพ์ยุคแรกของสมัยทวารวดี กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือราว ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว พบบริเวณภาคกลางของประเทศไทย เช่น จังหวัดนครปฐม และราชบุรี บางองค์มีจารึกคาถาเย ธมฺมา ที่ด้านหลังเช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง
ธนกฤต ลออสุวรรณ. การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา. วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖. นิติพันธุ์ ศิริทรัพย์.พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีที่นครปฐม. วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๔. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง.มรดก ๑,๐๐๐ ปีเก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.

ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี https://www.facebook.com/153378118193282/posts/1290167404514342/

(จำนวนผู้เข้าชม 1625 ครั้ง)