...

“นาฏเจียระไน” สู่เอกลักษณ์ไทยสังคีต
          “นาฏเจียระไน” สู่เอกลักษณ์ไทยสังคีต เป็นการรวบรวมรายการศิลปะการแสดง ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีที่ได้ประดิษฐ์ และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น รำ ระบำ และการแสดงเป็นชุดเป็นตอน โดยผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทย นาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปิน ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ให้สอดรับกับพันธกิจและยุทธศาสตร์ด้านการสร้างสรรค์ ต่อยอดเพิ่มคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงเหล่านี้ ได้รับจารีตขนบธรรมเนียมและแบบแผนการแสดง มาจากบรมครู อาจารย์ ด้านนาฏศิลปินและดุริยางคศิลปินในอดีต อันเป็นมรดกทางด้านองค์ความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ นาฏศิลปิน ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
          การสร้างสรรค์การแสดงต้องเริ่มจากผู้สร้างสรรค์มีความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะการแสดง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยยึดหลักการจัดสร้างการแสดงให้มีเอกลักษณ์ ความเป็นไทยและไม่เคยมีการประดิษฐ์การแสดงมาก่อน และนำมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ทั้งรูปแบบการแสดง กระบวนท่ารำ กระบวนแถว การใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง รูปแบบ และสีสัน เครื่องแต่งกาย ท่วงทำนองจังหวะดนตรี เพลงร้อง เทคนิคการใช้แสง สี เสียง ฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก เพื่อเพิ่มอรรถรสในการแสดงให้ผู้ชมเกิดความประทับใจ สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดง มีหลายประการ อาทิเช่น ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ความสำคัญของประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา กระแสความนิยมในสังคม ความเป็นศิลปินด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม บุคลิกลักษณะของตัวละครในวรรณกรรมในเรื่องต่างๆ ความรัก ความซื่อสัตย์ในอาชีพการแสดง และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาของสาธารณชนให้ตระหนักถึงความสำคัญ และรักในสิ่งที่คิดสร้างสรรค์ เช่น ความเป็นธรรมชาติของสัตว์ เรื่องราวในวรรณคดีต่างๆ เพื่อต้องการให้การแสดง สร้างสรรค์นี้ได้สื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
          สำหรับครั้งนี้ขอนำเสนอการแสดงสร้างสรรค์ ชุด “ระบำจตุรทิศวิจิตรไทยอาภรณ์” หรือระบำผ้าไทย ๔ ภาค เป็นระบำที่มีความสวยงามชุดหนึ่ง ได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดแสดงครั้งแรกเมื่อครั้งโปรดเกล้า ฯ ให้คณะนาฏศิลป์ ดนตรีไทย ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตามเสด็จพระราชดำเนิน เนื่องในงานเฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และได้มีโอกาสเผยแพร่ต่อมาอีกหลายครั้ง อาทิเช่น การจัดการแสดงเนื่องในงาน “120th Anniversary World’s Columbian Exposition A Siamese Queen-Chicago” ณ The Chicago History Museum สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ การจัดการแสดงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ การจัดการแสดงเนื่องในงานอนุรักษ์มรดกไทยใต้ร่มพระบารมี โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร และการจัดการแสดงเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนชมในรายการศรีสุขนาฏกรรม รวมถึงการบันทึกองค์ความรู้ของศิลปินสำนักการสังคีต ณ โรงละครแห่งชาติ เป็นต้น
          ประพันธ์บทร้องและประดิษฐ์ท่ารำโดย นางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการด้านศิลปะการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร บรรจุเพลงโดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ รูปแบบ และเนื้อหาของการแสดงจะสมมติให้ผู้แสดง เป็นหญิงชาวไทย ทั้ง ๔ ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ แต่งกายประจำภาค ร่ายรำตามท่วงทำนอง จังหวะเพลง และบทขับร้อง ซึ่งมีเนื้อหาแสดงถึงที่มา ความงามของสี ตลอดจนลวดลายต่างๆ ของผ้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมและเป็นงานศิลปหัตถกรรมมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน อันบ่งบอกถึงความรัก ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชนชาวไทย จึงนับว่าเป็นชุดการแสดงที่มีความโดดเด่นชุดหนึ่ง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมและผู้แสดง
          ขั้นตอนการสร้างสรรค์การแสดง ประกอบด้วย
          ๑. ศึกษา ค้นคว้า ประวัติและที่มาเกี่ยวกับผ้าไทย ๔ ภาค พร้อมหาตัวอย่างผ้า และบันทึกภาพ
          ๒. นำผ้าไทย ๔ ภาคที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก ถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตร
          ๓. เมื่อพระองค์ท่านทรงเห็นเหมาะสม จึงจัดหาซื้อผ้าดังกล่าว เพื่อออกแบบ และกำหนดสี ลวดลาย รูปแบบ และตัดเย็บตามเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน พร้อมทั้งเครื่องประดับ รูปแบบทรงผม ให้เหมาะสมกับชุดที่สวมใส่ โดยนางสุพรทิพย์ ศุภรกุล นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

   

          ๔. ประพันธ์บทขับร้อง ให้มีเนื้อหาบอกถึงที่มา ชื่อของลายผ้า ความงาม ความโดดเด่น และคุณค่าของผ้าที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน
          ๕. นำบทขับร้องให้ครูทางด้านดุริยางค์ไทยบรรจุเพลง ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของทั้ง ๔ ภาค
          ๖. ออกแบบการแสดง โดยให้ผู้แสดงถือผ้าไทยในแต่ละภาค เพื่อนำเสนอความงดงามของผ้า แล้วจึงนำไปพาดที่ราวแขวนผ้ากลางเวที และตอนจบจึงนำผ้ามาถืออีกครั้ง แล้วผู้แสดงรำเข้าโรง

   

          ๗. ประดิษฐ์ท่ารำให้มีความสัมพันธ์กับบทเพลง ท่วงทำนองจังหวะเพลง เครื่องแต่งกาย


          ๘. ถ่ายทอดกระบวนท่ารำให้ผู้แสดง

          ๙. ฝึกซ้อมการแสดง และแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับเวลา ก่อนแสดงจริง และนำเผยแพร่ สู่สาธารณชน

          การสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์และดนตรี โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์และดนตรี และนำไปเผยแพร่สู่ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป อย่างกว้างขวาง เพื่อการพัฒนากลวิธีและองค์ประกอบการแสดงด้านเทคนิค แสง สี เสียง และสร้างอรรถรสในการแสดง ทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน สำหรับ “นาฏเจียระไน” สู่เอกลักษณ์ไทยสังคีตในครั้งต่อไปจะขอนำเสนอการแสดงชุด “ระบำเสียมกุก - ละโว้”



ผู้เขียนบทความ : นายรัฐศาสตร์ จั่นเจริญ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ สำนักการสังคีต

(จำนวนผู้เข้าชม 2043 ครั้ง)