...

เล่าเรื่องประติมานวิทยา: มุณฑมาลา (Muṇḍamālā)
          มุณฑมาลา คือ พวงมาลัยหัวกะโหลก หรือพวงมาลัยศีรษะมนุษย์ เรียกอีกว่า กปาลมาลา (Kapālamālā) หรือ รุณฑมาลา (Ruṇḍamālā) สวมใส่โดยเทพและเทพีที่มีลักษณะดุร้าย สันนิษฐานว่าอาจเป็นร่องรอยของลัทธิบูชาหัวกะโหลก (skull culture) มาแต่เดิม มีความหมายเชื่อมโยงถึงความตาย ทางประติมานวิทยาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นลักษณะของพระศิวะ ผู้เป็นเทพแห่งการทำลายล้าง เจ้าแห่งกาลเวลาและความตาย และภาคอันดุร้ายน่ากลัวของพระแม่ (Divine Mother) ผู้เป็นศักติหรือพลังของเทพเจ้า รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของเทพและเทพีผู้โกรธเกรี้ยว ในพุทธศาสนาตันตระยานแบบทิเบต
          ในบริบทของพระศิวะสร้อยพวงกะโหลกมีความหมายถึงวัฏฏะอันต่อเนื่องของการสร้างและการทำลายล้าง ปรากฏในภาคอันดุร้ายของพระศิวะ เช่น อโฆรมูรติ (Aghoramūrti) ไภรวะ (Bhairava) คชาสุรสังหาร (Gajāsurasaṅhāra) กังกาละมูรติ (Kaṅkālamūrti) มฤตยุญชยะ (Mṛtayuñjaya) มหา-สทาศิวะ (Mahā-Sadāśiva) และวีรภัทร (Vīrabhadra)
          ปางดุร้ายของพระเทวี เช่น กลุ่มมหาวิทยา (Mahāvidyas) คือกลุ่มพระเทวี 10 องค์ อาทิ กาลี (Kālī) ตารา (Tārā) ไภรวี (Bhairavī) ฉินนมัสตา (Chinnamastā) ธูมาวตี (Dhūmāvatī) มาตังคี (Mātaṅgī) และเทวีอื่น ๆ เช่น จามุณฑา (Cāmuṇḍā) และกาลราตรี (Kālarātī) สวมพวงมาลัยศีรษะที่ถูกตัดขาดเป็นเครื่องหมายของศัตรูและปีศาจที่ถูกสังหารโดยพระเทวีผู้สวมใส่ สำหรับฉินนมัสตา เทวีผู้ตัดหัวตัวเอง มุณฑมาลาเป็นเครื่องหมายของชัยชนะเหนือกาลเวลาและความกลัวตาย
          เทพที่มีลักษณะโกรธเกรี้ยว ดุร้าย ในพระพุทธศาสนาแบบตันตระ เพื่อข่มขวัญและทำลายสิ่งชั่วร้ายที่เป็นศัตรูต่อพุทธศาสนา สวมใส่มุณฑมาลา แสดงกำลังอำนาจในการทำลายล้าง เช่น ธรรมปาล (Dharmapāla) เหรุกะ (Heruka) อจละ (Acala) เหวัชระ (Hevajra) และ สังวร (Saṃvara) เทพสตรี เช่น ฑากินี (Ḍākinī) เอกชฏา (Ekjaṭā) คุหเยศวรี (Guhyeśvarī) มาริฉี (Mārichī) และวัชรวาราหี (Vajravārāhī) เป็นต้น


ภาพที่ 1. ตำราภาพเทวรูป ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เลขที่ 32 ภาพนารายณ์อวตาร ปางอัปสราวตาร ตามคติทางไสยศาสตร์อย่างไทย พระนารายณ์แสดงลักษณะของพระศิวะ เทพผู้ทำลาย โดยสวมมุณฑมาลาหรือพวงมาลัยหัวกะโหลก ไม่นิยมแสดงความรุนแรง สยดสยอง อย่างศิลปะอินเดีย ซึ่งเป็นต้นแบบ

ภาพที่ 2. ไภรวะ ศิลปะอินเดีย จาก Mysore, Karnataka state อายุคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภาพจาก Asian Art Museum


ภาพที่ 3. ภาพพิมพ์รูปพระแม่กาลี อายุคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผลิตโดยสำนักพิมพ์ Ravi Varma ของอินเดีย มีการแสดงออกอย่างรุนแรงเสมือนจริง ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art


ภาพที่ 4. มหากาล ผู้ทำลายอวิชชา ในพุทธศาสนาตันตระยานแบบทิเบต ศิลปะทิเบต คริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art


อ้างอิงจาก
1. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism, 184. ; 2. The illustrated dictionary of Hindu iconography 3. Iconography of the Hindus, Buddhists and Jains. 4. https://en.wikipedia.org/wiki/Mundamala 

(จำนวนผู้เข้าชม 2346 ครั้ง)