...

พชรบุรีศรีกำแพงเพชร : เมืองที่มีกำแพงแข็งแกร่งประดุจดั่งเพชร
          ศิลาจารึกวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยาราม (พ.ศ. ๑๙๔๗) ระบุชื่อเมืองพชรบุรีศรีกำแพงเพชร อันน่าจะหมายถึงเมืองโบราณกำแพงเพชรที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง มีแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู วางตัวขนานไปกับแม่น้ำปิง ตัวเมืองมีขนาดกว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๔๒๐ เมตร แนวกำแพงเมืองด้านเหนือพบร่องรอยคูน้ำและคันดินจำนวน ๓ ชั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าสร้างกำแพงเมืองกำแพงเพชรมีลักษณะเป็นคูน้ำและคันดิน ต่อมาได้มีการพัฒนากำแพงเมืองชั้นในให้เป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง กำแพงเมืองชั้นในที่ล้อมรอบตัวเมืองเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๕,๓๑๓ เมตร แบ่งเป็นกำแพงด้านทิศเหนือยาวประมาณ ๒,๔๐๓ เมตร กำแพงด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๒,๑๕๐ ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ ๕๔๐ เมตร และด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ ๒๒๐ เมตร แนวกำแพงมีความกว้าง ๖.๕ เมตร สูงประมาณ ๔.๗ – ๕.๒ เมตร
          แนวกำแพงเมืองที่ล้อมรอบตัวเมืองซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของเมืองนั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ แนวกำแพงเมืองที่มีเชิงเทินและใบเสมา ประตูเมือง และป้อมปราการ ประตูเมืองกำแพงเพชรที่ยังคงปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันจำนวน ๙ ประตู ได้แก่ แนวกำแพงด้านทิศตะวันตกพบประตูเมือง จำนวน ๑ ประตู คือ ประตูหัวเมือง แนวด้านทิศเหนือพบประตูจำนวน ๔ ประตู คือ ประตูผี ประตูสะพานโคม ประตูวัดช้าง และประตูเตาอิฐ แนวกำแพงด้านทิศตะวันออกพบจำนวน ๑ ประตู คือ ประตูท้ายเมือง แนวกำแพงด้านทิศใต้พบ ๓ ประตู คือ ประตูบ้านโนน ประตูดั้น และประตูเจ้าอินทร์ อย่างไรก็ตามอาจมีป้อมและประตูบางแห่งที่ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ประตูน้ำอ้อย แต่ปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ และในแผนที่เมืองกำแพงเพชรที่เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ทั้งสองฉบับดังกล่าวยังได้กล่าวถึงกำแพง ประตู และป้อมของเมืองกำแพงเพชร ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ความว่า “…ไปตามถนนบนฝั่งน้ำชั้นบนไปข้างเหนือผ่านวัดเล็ก ๆ ทำด้วยแลง และที่ว่าการซึ่งยังทำไม่แล้ว เลี้ยวเข้าประตูน้ำอ้อยทิศตะวันตก หน้าประตูนี้เป็นทางลึกลงไปจากฝั่งจนถึงท้องคูแล้วจึงขึ้นเมือง...กำแพงก่อด้วยแลง ใบเสมาเป็นรูปเสมาหยักแต่ใหญ่ คออ้วนเหลืออยู่น้อย ตามประตูน่าจะเป็นป้อมทุกแห่ง แต่ที่ได้เห็น ๓ ประตู คือ ประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น...” และในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ความว่า “…เมืองกำแพงเพชรนี้รูปชอบกลไม่ใช่เป็นรูปสี่เหลี่ยม กำแพงด้านตะวันออกตะวันตกยาวกว่าด้านเหนือด้านใต้หลายส่วน ด้านเหนือด้านใต้มีประตูด้านละช่องเดียวเท่านั้น แต่ด้านตะวันออกตะวันตกมีหลายช่อง ทั้งมีป้อมวางเป็นระยะ...กำแพงบนเชิงเทินทำแน่นหนาก่อด้วยแลง มีใบเสมาก่อเป็นแผ่นตรงขึ้นไปสักศอกหนึ่งแล้ว จึงก่อเป็นรูปหลังเจียดขึ้นไปอีกศอกหนึ่ง บนกำแพงมีทางเดินได้รอบกว้างพอคนเดินหลีกกันได้สบาย นอกกำแพงมีคูลึก...”

          สำหรับป้อมปราการที่ปรากฏแบบตามลักษณะตำแหน่งของป้อมได้ ๓ รูปแบบ คือ
          ๑. ป้อมประจำมุมเมือง ปัจจุบันพบเพียง ๓ ป้อม ตั้งอยู่บริเวณมุมเมืองทั้ง ๓ มุม ในแนวเดียวกับกำแพงเมืองชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ได้แก่ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้
          ๒. ป้อมหน้าประตูเมือง ตั้งอยู่บนเกาะกลางคูเมืองชั้นในหน้าประตูเมือง ป้อมมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้แก่ ป้อมบ้านโนน ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมประตูผี ป้อมวัดช้าง ป้อมเตาอิฐ โดยสันนิษฐานว่าด้านหน้าประตูเมืองทุกประตูน่าจะมีป้อมลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่ด้านหน้าทุกประตู
          ๓. ป้อมในแนวกำแพงเมือง ตั้งอยู่ในแนวกำแพงเมือง มีแผนผังเป็นรูปห้าเหลี่ยมหัวลูกศร ที่มีส่วนแหลมยื่นเข้าสู่คูเมืองชั้นใน แนวกำแพงด้านทิศใต้มีป้อมในแนวกำแพงเมือง ได้แก่ ป้อมหลังทัณฑสถานวัยหนุ่ม และป้อมเจ้าอินทร์ และแนวกำแพงด้านทิศเหนือมีป้อมในแนวกำแพงเมือง ได้แก่ป้อมเพชรและป้อมข้างประตูเตาอิฐ
          กำแพงเมืองกำแพงเพชรไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) รูปแบบการก่อสร้างป้อมและแนวกำแพงเมืองที่มีเชิงเทินและใบเสมานั้น เป็นรูปแบบที่น่าจะเข้ามาพร้อมกับอิทธิพลตะวันตก ดังที่มีข้อสันนิษฐานจากการศึกษาของนายประทีป เพ็งตะโก ในบทความ เรื่อง ป้อมเพชร ปราการเหล็กแห่งอยุธยา “…และเป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปมีบทบาทอยู่ในราชสำนักอยุธยามากที่สุดในขณะนั้น น่าจะมีส่วนในการออกแบบกำแพงเมืองและป้อมที่มีเชิงเทินและใบเสมา สำหรับเป็นที่กำบังกระสุนปืนให้สอดคล้องกับการสู้รบที่มีการใช้ปืนใหญ่ตามแบบตะวันตก ดังนั้นเอกสารทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศ ต่างรับรองในแนวเดียวกันว่ากำแพงก่ออิฐของอยุธยาน่าจะสร้างในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และสมเด็จพระมหาธรรมราชาหรือทั้งสองรัชกาล...” จึงเป็นไปได้ว่าการก่อสร้างของกำแพงเมืองกำแพงเพชรที่ก่อด้วยศิลาแลงนั้นเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒) ด้วยเช่นกัน
          ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองกำแพงเพชรบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงแห่งนี้ นับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการสงครามที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก เมืองแห่งนี้จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ชื่อเมืองกำแพงเพชรจึงปรากฏในเส้นทางการเดินทัพของทั้งฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพม่า และฝ่ายล้านนา มาโดยตลอด กระทั่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และยังคงปรากฏต่อเนื่องในสมัยธนบุรี และตอนต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางการสงครามของเมืองกำแพงเพชรซึ่งมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์คือแนวกำแพงเมืองที่ยังมีความสมบูรณ์มั่นคงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน















บรรณานุกรม
ประทีป เพ็งตะโก. “ป้อมเพชร ปราการเหล็กแห่งอยุธยา”. ศิลปากร. ปีที่ ๔๐, ฉบับที่ ๕ (ก.ย.-ต.ค. ๒๕๔๐) หน้าที่ ๕๐-๖๕. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 2587 ครั้ง)