...

จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง "ระบาดวิทยาโรคาปาฐ" ในมณฑลจันทบุรี ตอน ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ มหันตภัยจากเชื้อไวรัส
          ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อผ่านได้จากการสัมผัสหรือการหายใจรดกัน เป็นโรคที่มีการระบาดรุนแรงและรวดเร็ว มีการกล่าวถึงโรคชนิดนี้มากว่า ๒,๐๐๐ ปี ส่วนในไทยเริ่มปรากฏหลักฐานช่วงสมัยอยุธยา ระบุว่ามีการระบาดและทำลายชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ ราชฑูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงระบุว่า "โรคห่า"ของไทยที่แท้จริงคือ"โรคไข้ทรพิษ"นั่นเอง
          มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ "หมอบรัดเล" ได้เข้ามาเมืองไทยในฐานะแพทย์มิชชันนารีสังกัดคณะมิชชันนารีอเมริกัน ได้ทำการปลูกฝีให้คนไทย ช่วยรักษาชีวิตราษฎรไว้เป็นจำนวนมากอีกทั้งเขียนตำรา"ปลูกฝีโคให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้"ซึ่งช่วยให้การสาธารณสุขของไทยมีความก้าวหน้าได้ระดับหนึ่ง และประการสำคัญพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
          ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตรา"พระราชบัญญัติจัดการป้องกันไข้ทรพิษ พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ " เพื่อเป็นกฏหมายบังคับใช้ทั่วประเทศให้คนไทยทุกคนต้องปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ โดยเริ่มในทารกตั้งอายุ ๖ เดือนเป็นต้นไป
          การปลูกฝีไข้ทรพิษตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๑ -๒๔๗๓ ทำให้เห็นว่ารัฐได้พยายามป้องกันและรักษาโรคอย่างต่อเนื่องได้แก่
          ๑.ออกหนังสือป้องกันโรค
          ๒.จำหน่ายและแจกยาโรยฝีหนองของโอสถสภา
          ๓.ออกใบปลิวทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
          ๔.ให้แพทย์หลวงและแพทย์ตำบลออกไปปลูกฝีหนองตามหมู่บ้าน และกำชับให้ราษฎรมาปลูกฝีซ้ำหากปลูกครั้งแรกไม่ขึ้น
          ๕.วางระเบียบการเบิกฝีหนอง ถ้าไม่ได้รับในเวลาสมควรต้องรีบแจ้งกรมสาธารณสุขโดยด่วนเพราะฝีหนองอาจหมดอายุได้








          เห็นได้ว่ารัฐพยายามควบคุมการระบาดของโรคนี้อย่างต่อเนื่อง จากแบบรายงานประจำปี พ.ศ.๒๔๗๒ ของสาธารณสุขมณฑล แจ้งเสนอไปยังสมุหเทศาภิบาลมณฑล ความว่า"...ในมณฑลนี้มีพลเมืองทั้งสิ้น ๑๖๖,๖๖๕ คน ได้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ รวม๒๖,๔๔๑ คน โดยแพทย์สาธารณสุขปลูกให้และปลูกโดยเงินบำเหน็จ(จ้างแพทย์เชลยศักดิ์และแพทย์ตำบล โดยคิดค่าบำเหน็จให้วันละ ๑บาท)..." ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มีรายงานจากขุนประสาทประสิทธิการ นายอำเภอมะขาม แจ้งมายังสมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ว่าเกิดไข้ทรพิษที่บ่อนอก ตำบลบ่อไพลิน เมืองพระตะบอง อินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับฝั่งมณฑลจันทบุรีด้านกิ่งกำพุช อำเภอมะขาม(ปัจจุบันคืออำเภอโป่งน้ำร้อน) และมีคำสั่งด่วน"...ให้ขุนอนันต์ไปประจำตรวจคนต่างด้าวที่กิ่งกำพุช ที่จะเข้ามาในพระราชอาณาเขตต์ จะต้องปลูกฝีทุกคน..." และหลังจากนั้นได้สืบทราบว่าเชื้อโรคที่แพร่ระบาดมาจากพวกกุล่าไปค้าพลอยที่เมืองข่า แล้วกลับมาพักพร้อมแพร่เชื้อระบาดที่บ่อดินเหนียว บ่อพะฮี้ บ้านห้วยใส และบ้านกะชุกในเขตเมืองพระตะบอง มีการระบาดมาประมาณ ๓ เดือนแล้วและยังเป็นต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีแก้ไขในเบื้องต้นคือปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้ แต่ถ้าใครไม่ยินยอมให้ปลูกฝี ก็ห้ามมิให้เข้ามาในสยาม 
          จากเอกสารจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่ปรากฏในเรื่องโรคระบาดไข้ทรพิษ สามารถสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลากว่า ๒๒ ปี ที่รัฐพยายามแก้ไขโรคระบาดไข้ทรพิษที่เป็นมหันตภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนอย่างมากมาย ได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพยายามให้ความรู้ทุกรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด สุดท้ายก็สามารถกำจัดโรคระบาดชนิดนี้ไปได้อย่างเด็ดขาด

ผู้เขียน นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี

เอกสารอ้างอิง
-หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี.เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๔๐ เรื่องไข้ทรพิษที่บ่อนอก ตำบลบ่อไพลิน เมืองพระตะบอง ซึ่งติดต่อกับกำพุช(๑๓ ม.ค. ๒๔๗๓-๒๒ พ.ค.๒๔๗๔). -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๓๕ เรื่องสาธารณสุขส่งรายงานประจำปี พ.ศ.๒๔๗๒(๓ ก.ค.๒๔๗๓). -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี.เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๑๐ เรื่อง ให้ระดมจัดการสุขศึกษาเรื่องปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ(๙ มี.ค.๒๔๖๘- ๕ ส.ค.๒๔๗๐). -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๒ เรื่อง ส่งบาญชีจำหน่ายยาโอสถสภาปลูกไข้ทรพิษแลหนังสือป้องกันโรค(๕ ม.ค. ร.ศ.๑๒๗ - ๒๓ ก.ค. ร.ศ.๑๒๘).

(จำนวนผู้เข้าชม 748 ครั้ง)