...

๑๖๐ ปี พระนครคีรี จิรกาล ตอนที่ ๑ พระราชวัง และการเสด็จฯ หัวเมือง
           เนื่องในโอกาส ๑๖๐ ปีแห่งการสถาปนาพระนครคีรี พระราชวังบนภูเขาแห่งแรกของไทย เพื่อเป็นการร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ผู้ทรงโปรดให้สถาปนาพระราชวังพระนครคีรีขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ได้นำเสนอบทความชุด “๑๖๐ ปี พระนครคีรี จิรกาล” เพื่อนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับที่มา และความสำคัญของพระนครคีรี ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์ที่ทรงมีต่อเมืองเพชรบุรี
          พระนครคีรี นับเป็นพระราชวังสำคัญแห่งหนึ่งของไทย เพราะนอกจากจะเป็นพระราชวังบนภูเขาแห่งแรกแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นอารยะของสยามตามทรรศนะของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย โดยจะเห็นได้จากพระที่นั่งและอาคารประกอบต่าง ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอาคารแบบนีโอคลาสสิกของตะวันตก โดยบทความชุด “๑๖๐ ปี พระนครคีรี จิรกาล” ประกอบด้วยบทความทั้งสิ้น ๑๐ ตอน ดังนี้
          ตอนที่ ๑ พระราชวัง และการเสด็จฯ หัวเมือง กล่าวถึงการก่อสร้างพระราชวังที่ประทับตามหัวเมืองต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า  เจ้าอยู่หัว
          ตอนที่ ๒ เพชรบุรี เมืองแห่งพระราชศรัทธา กล่าวถึงประวัติเมืองเพชรบุรี และความสำคัญของเมืองเพชรบุรี ในฐานะที่เป็นหัวเมืองสำคัญ และเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ในสมณเพศ
          ตอนที่ ๓ ราชมรรคาสู่เมืองเพ็ชร์ กล่าวถึงการเดินทางจากพระนครมายังเมืองเพชรบุรีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว              ตอนที่ ๔ กระแสพระราชดำริ กล่าวถึงพระราชดำริในการก่อสร้างพระราชวังบนเขาสมณ เมืองเพชรบุรี ซึ่งได้ชื่อว่า พระนครคีรี ในเวลาต่อมา
          ตอนที่ ๕ สถาปนาพระราชวัง กล่าวถึงการก่อสร้างพระนครคีรี ซึ่งเริ่มต้นในพุทธศักราช ๒๔๐๒ และเสร็จสิ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๕
          ตอนที่ ๖ พรั่งพร้อมที่เมืองเพ็ชร์ กล่าวถึงการก่อสร้างพระนครคีรีที่ได้แรงงานชาวลาวทรงดำและลาวพวนมาดำเนินงาน และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้น เช่น ถนน และสะพาน จนอาจกล่าวได้ว่าการก่อสร้างพระนครคีรีคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองเพชรบุรีให้มีความทันสมัยและสะดวกสบายมากขึ้น
          ตอนที่ ๗ เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร กล่าวถึงการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระนครคีรีเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๕ และการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระสุทธเสลเจดีย์ พระนครคีรี ในคราวเดียวกัน
          ตอนที่ ๘ รับรองพระราชอาคันตุกะ กล่าวถึงการใช้พระนครคีรีรับรองพระราชอาคันตุกะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชกาลต่อ ๆ มา
          ตอนที่ ๙ จิตวิญญาณชาวพริบพรี กล่าวถึงพระนครคีรีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการจัดพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในหัวเมือง อาทิ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
          ตอนที่ ๑๐ ๑๖๐ ปี จิรกาล กล่าวถึงพระนครคีรีภายหลังรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และความสำคัญของพระนครคีรี ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี และเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานต่อเมืองเพชรบุรี


ตอนที่ ๑ พระราชวัง และการเสด็จฯ หัวเมือง

          ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และก่อนหน้านี้ขึ้นไป เป็นธรรมเนียมที่พระเจ้าแผ่นดิน จะประทับอยู่ในพระนครราชธานีเป็นหลัก และจะไม่เสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนครราชธานี หากไม่มีพระราชกิจอื่นใด โดยจะเสด็จพระราชดำเนินออกนอกราชธานีนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่ามี ๓ ประการ คือ ๑ เสด็จไปในการพระราชสงคราม ๒ เสด็จไปในการนมัสการพุทธสถานสำคัญ และ ๓ เสด็จไปในการวังช้างโพนช้างสำคัญ
          เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงพระราชฐานที่ประทับนอกเขตพระนครราชธานี เช่น พระราชวังเมืองลพบุรี และพระราชวังที่บางปะอิน กระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์มหาราชเป็นต้นมา ไม่ทรงมีพระราชกิจที่จำต้องเสด็จฯ ออกนอกพระนคร คงมีการพระราชสงครามเมื่อครั้งต้นกรุงบ้าง ที่เสด็จฯ ไปหัวเมือง ซึ่งนับเป็นการพิเศษ จึงไม่ปรากฏการสร้างพระราชฐานที่ประทับนอกเขตพระนคร
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ที่ทรงมีพระราชดำริในการเสด็จฯ ออกนอกพระนครราชธานี นอกเหนือไปจากพระราชประเพณีโบราณทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยนิยมการท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ มาตั้งแต่ครั้งทรงผนวชอยู่ ปรากฏว่าได้เสด็จฯ ไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ และหัวเมืองรายรอบพระนครบ้างแล้ว ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ก็ได้เสด็จฯ ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งใกล้ไกล และทรงมีพระราชดำริในการสร้างพระราชฐานที่ประทับขึ้นตามหัวเมืองเหล่านั้นด้วย
          น่าสนใจว่า พระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในหัวเมืองนั้น ทรงมีพระราชประสงค์ต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับความสำคัญ และเหตุจากสถานที่นั้น ๆ ดังเช่นพระราชวังที่กรุงเก่า อันมีพระราชวังหลวง และพระราชวังจันทรเกษม ที่โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อมาประทับในเวลาเสด็จฯ ประพาสกรุงเก่า และเป็นการเฉลิมพระเกียรติบุรพกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ยังมีพระราชวังที่พระพุทธบาท เมืองสระบุรี หรือพระราชวังนครปฐม ที่โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับในเวลาเสด็จฯ ไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญ ณ ที่นั้น เป็นต้น
          ในบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จฯ ไปประทับนั้น เพชรบุรีเป็นหัวเมืองหนึ่งที่โปรดเสด็จฯ มา ปรากฏว่าได้เสด็จฯ มาตั้งแต่ครั้งผนวชอยู่ในสมณเพศแล้ว ครั้นเมื่อครองราชสมบัติก็ยังเสด็จฯ อยู่ตลอดรัชสมัย


ภาพ : พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และหอภูวดลทัศไนย ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประทับสำคัญของพระมหากษัตริย์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์


ข้อมูล/ภาพ : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 754 ครั้ง)


Messenger