วันนี้ในอดีต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดงาน “พระนครคีรี-เพชรบุรี”
วันนี้ในอดีต : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดงาน “พระนครคีรี-เพชรบุรี”
วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เวลา 14.05 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 หรือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระอิสริยยศเดิมก่อนที่พระองค์ทรงดำรงพระยศในปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาทรงเปิดงาน “พระนครคีรี-เพชรบุรี” ณ บริเวณเขาวัง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
ย้อนรอยเรื่องราว : งานพระนครคีรี - เมืองเพชร
งาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยมี นายเชาว์วัศ สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในขณะนั้นได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวเพชรบุรี ริเริ่มให้มีการจัดงาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” ขึ้นเป็นครั้งแรก
แรกเริ่มเดิมทีงาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” ใช้ชื่องานว่า "งานพระนครคีรี เทิดทูนราชจักรีวงศ์" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระนครคีรี” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง“พระรามราชนิเวศน์” (วังบ้านปืน) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” เพื่อเป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน ซึ่งปัจจุบันพระราชวังทั้ง 3 แห่งนี้ นับเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ เป็นมรดกแห่งความภาคภูมิใจของประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งของจังหวัดเพชรบุรี
โดยงาน “พระนครคีรี เมืองเพชร” หรือที่ชาวเพชรบุรีเรียกว่า “งานหน้าเขา” ได้กลายเป็นงานประเพณีของชาวเมืองเพชรบุรีที่จัดสมโภชพระนครคีรีในช่วงวันศุกร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี รวม 10 วัน 10 คืน มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นการจัดงานครั้งที่ 10 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2539 ได้งดเว้นไป 1 ปี
ทั้งนี้ในปี 2551 สมัยนายสยุมพร ลิ่มไทย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี การจัดงานพระนครคีรีได้เลื่อนกำหนดมาจัดในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากเดือนกุมภาพันธุ์ยังเป็นช่วงที่คนไทยยังอยู่ในอาการเศร้าโศกจากการที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สิ้นพระชนม์ ต่อมาในปี 2552 นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีคนต่อมา ได้สานต่อการจัดงาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” ครั้งที่ 23 โดยจัดในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากต้องการให้เป็นเทศกาลต่อเนื่องกับสงกรานต์
งาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีการจัดแสดงและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น นิทรรศการประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองเพชรบุรี การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมสกุลช่างเมืองเพชร การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านวัวเทียมเกวียน สาธิตการปรุงอาหารคาว หวาน นอกจากนี้ยังมีการแสดงแสง เสียง ที่บริเวณพระนครคีรี มีการประดับประดาคบไฟ โคมไฟ และดวงไฟตามจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของงานที่มีมาตั้งแต่ครั้งแรกอย่างหนึ่ง
โดยงาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” เป็นที่ได้รับความสนใจของชาวเพชรบุรีและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ยังคงมีการจัดงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบและกิจกรรมมีการพัฒนาและปรับปรุงอยู่เสมอตามกาลเวลา แต่ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้ และในปีพุทธศักราช 2567 งาน “พระนครคีรี - เมืองเพชร” ซึ่งเป็นครั้งที่ 37 จะจัดขึ้นในวันที่ 14 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2567 (กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลง) ขอเชิญชมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานประเพณีที่สำคัญของชาวเมืองเพชรบุรี ในงาน “พระนครคีรี – เมืองเพชร” ไปด้วยกัน
เอกสารและหลักฐานการค้นคว้า
1. ธีวรา วิโนทกะ, “พัฒนาการของการแสดงในงานพระนครคีรี”,ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, ( บัณฑิตวิทยาลัย : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565)
2. ย้อนอดีตแรกเริ่ม งานพระนครคีรี –เมืองเพชร. เพชรภูมิ
3. petchnews magazine. “150 ปี พระนครคีรี เมืองเพชร”.
ภาพ
โอภาส ชาญมงคล ช่างภาพอาวุโส จังหวัดเพชรบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 187 ครั้ง)