พุทธประวัติ จิตรกรรมบนแผ่นไม้ ประดับคอสอง
พุทธประวัติ : จิตรกรรมบนแผ่นไม้ ประดับคอสอง
ศาลาพระปาลิไลย์ วัดเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดเขายี่สาร ตั้งอยู่บนเนินเขายี่สารในหมู่บ้านยี่สาร หมู่ที่ 1 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นวัดเก่าโบราณ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างตั้งแต่เมื่อใด ตามการสันนิษฐานของกรมศิลปากรจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้ความเห็นว่า วัดเขายี่สารน่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ ( สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ ที่ 8 ) วัดเขายี่สารได้จดทะเบียนเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2246 นอกจากนั้นภายในวัดก็ได้จัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมที่สำคัญ นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร”
“พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร” เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เดิมตั้งอยู่ที่ศาลาพระปาลิไลย์ ศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดเขายี่สารเป็นพิพิธภัณฑ์ ด้วยความร่วมมือร่วมใจและความสำนึกรักในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวบ้านเขายี่สาร จึงได้ช่วยกันเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจากวัดเขายี่สารและบริจาคสิ่งของต่าง ๆ เพื่อจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจได้ชม
โดยการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ก็เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนบ้านเขายี่สาร และจากหลักฐานทางโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทางพิพิธภัณฑ์ทำการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมมานั้น ทำให้พบว่าชุมชนบ้านเขายี่สารเป็นชุมชนโบราณร่วมสมัยกับการเกิดกรุงศรีอยุธยาและมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และปรากฏหลักฐานเอกสารมากมายที่กล่าวถึง “บ้านเขายี่สาร” ในฐานะชุมชนเก่าแก่ที่เป็นทางผ่านเมื่อจะต้องเดินทางสู่เขตเพชรบุรีลงไป นอกจากนี้ภายในอาคารได้มีการจัดแสดงเรื่องต่าง ๆ เช่น ภูมิปัญญาบ้านเขายี่สาร วิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน เครื่องมือผลิตยา และเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวบ้านในชุมชน เป็นต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจพบว่า “พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร” มีการรวบรวมภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งในปัจจุบันภาพดังกล่าวได้ถูกจัดเก็บไว้เป็นอย่างดี ดังนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จึงได้เรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษา ค้นคว้า อีกทั้งยังเป็นการดำรงและรักษาภาพจิตรกรรมการแสดงคำสอนอันดีงามและเรื่องราวความเป็นมาทางพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
โดยภาพจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวพุทธประวัติที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมไว้นั้น มีจำนวนทั้งหมด 8 ภาพ เป็นภาพที่เขียนบนแผ่นไม้กระดานยาวสองแผ่น (บน – ล่าง) ประกอบกัน ในแต่ละภาพประกอบด้วยเรื่องราวพุทธประวัติหลายตอนประกอบกัน ดังต่อไปนี้
ภาพแผ่นที่ 1 : ประกอบด้วยเรื่องราวพุทธประวัติ 3 ตอน
ตอนที่ 1 แสดงเหตุการณ์ตอนพระเจ้าตติยโอกการาชมีรับสั่งให้เสนาบดีติดตามพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ออกไปสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่
ตอนที่ 2 แสดงเหตุการณ์ตอนพระราชโอรสและพระราชธิดาออกเดินทางไปพบกบิลพราหมณ์และสร้างเมืองซีนัมนที ในบริเวณที่เป็นอาศรมของพราหมณ์ดังกล่าว ตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “เมืองกบิลพัสดุ์” ซึ่งเจริญรุ่งเรืองต่อมา
ตอนที่ 3 อยู่ส่วนด้านขวามือ แสดงเหตุการณ์ตอนพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริ มหามายาผู้ที่จะได้เป็นพุทธบิดาและพุทธมารดา ในกาลต่อมา
มีจารึกอักษรไทย ภาษาไทยที่ด้านซ้าย ความว่า “จีนเพี้ยนซุน แม่จุ้ย สร้างไว้ในพระศาสนา”
ภาพแผ่นที่ 2 : ประกอบด้วยเรื่องราวพุทธประวัติ 3 ตอน
ตอนที่ 1 แสดงเหตุการณ์ตอนพระนางสิริมหามายาประทับราชรถเพื่อกลับไปยังนครของพระองค์
ตอนที่ 2 แสดงเหตุการณ์ตอนพระนางสิริมหามายามีพระประสูติการเจ้าชายสิทธัตถะ ณ สวนลุมพินีวัน เป็นภาพสตรียืนเหนี่ยวกิ่งไม้ซึ่งน่าจะเป็นต้นสาละแวดล้อมไปด้วยนางพระกํานัลและมีผ้ากางกั้นไว้
ตอนที่ 3 แสดงเหตุการณ์ตอนกาฬเทวิลดาบส มาชื่นชมเจ้าชายสิทธัตถะ และประสงค์ให้เจ้าชายมาคารวะตน ทว่าด้วยบุญบารมีเจ้าชายก็ลอยขึ้นไปอยู่เหนือชฎาของดาบส ดาบสจึงเพ่งพิจารณาเจ้าชายน้อยใหม่ ทําให้ทราบว่าในกาลข้างหน้านั้น เจ้าชายน้อยนี้จักตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดาบสจึงร่ำไห้ด้วยความเสียดายที่จักมิได้อยู่จนถึงเหตุการณ์ในอนาคตนั้น
ด้านซ้ายมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “พ่อโต้ แม่เมือง บ้านยี่สาร มีใจสัทธาสร้างไว้ในพระศาสนา” ตอนขวามีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “จีนซุนแม่ . . . (ลบเลือน) . . . แม่ปุย มีใจสัทธาสร้างไว้ในพระศาสนา" บริเวณกึ่งกลางภาพ ปรากฏรูปประตูเมืองระบุคําว่า “ทรศก 129”
ภาพแผ่นที่ 3 : ประกอบด้วยเรื่องราวพุทธประวัติ 4 ตอน
ตอนที่ 1 แสดงเหตุการณ์เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานและได้พบกับเทวทูตทั้งสี่ และได้นิมิตเห็นการเกิดแก่เจ็บตาย
ตอนที่ 2 แสดงเหตุการณ์ตอนเข้าไปทอดพระเนตรพระนางพิมพาและพระราหุลที่กำลังบรรทมอยู่ก่อนจะเสด็จหนีออกนอกพระราชวัง โดยมีนายฉันนะรอเฝ้าอยู่ด้านนอกปราสาท และมีภาพสตรีบางคนออกไปพลอดรักกับบุรุษอยู่ด้านนอกปราสาทด้วย
ตอนที่ 3 แสดงเหตุการณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้าออกจากพระราชวัง มีนายฉันนะเกาะหางม้าติดตามไปด้วย โดยระหว่างทางนั้นได้พบกับท้าววสวัตตีมารที่มาห้ามมิให้ออกผนวช ด้วยอีกเพียง 7 วันข้างหน้า เจ้าชายก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิราชแล้ว แต่เจ้าชายมิได้เปลี่ยนพระทัย ยังเสด็จพระราชดำเนินต่อไป
ตอนที่ 4 เป็นเหตุการณ์ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเกศาด้วยพระองค์เอง แล้วขว้างพระเกศาไปในอากาศ พระอินทร์จึงได้เสด็จลงมารับพระเกศานั้นไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตอนซ้ายของแผ่นไม้มีข้อความอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “แม่ริง แม่อ่วม แม่แว้ด แม่วา แม่สี สร้างไว้ในพระศาสนา” ตอนขวา มีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “พ่อพัน แม่โมด สร้างไว้ในพระศาสนา”
ภาพแผ่นที่ 4 : เป็นภาพแสดงเหตุการณ์หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชแล้ว ด้วยมีพระวรกายงดงามเปล่งปลั่ง พระจริยาวัตรงดงามเป็นที่ร่ำลือ พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จออกไปทอดพระเนตร และเมื่อทรงทราบว่านักบวชรูปงามนั้นเดิมคือ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ก็เข้าพระทัยว่าเจ้าชายอาจมีปัญหาภายในบ้านเมืองเดิม จึงยินดีที่จะแบ่งพระนครของตนให้เจ้าชายปกครอง บริเวณหน้าบันปราสาทที่อยู่ด้านขวาของภาพ มีข้อความว่า “พะอยาพิมสัน” น่าจะหมายถึง พระยาพิมพิสาร หรือ พระเจ้าพิมพิสาร โดยช่างเขียนได้เขียนภาพข้าราชการ หรือขุนนางของพระเจ้าพิมพิสารสวมเสื้อราชปะแตนและนุ่งผ้าโจงกระเบน
ตอนซ้ายของแผ่นไม้ด้านบนอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “คุณยกพวง พ่อสวง จีนเซ็ก สร้างไว้ในพระสาสนา”
ภาพแผ่นที่ 5 : ภาพนี้มีเรื่องราวพุทธประวัติหลายตอนประกอบกัน
ตอนที่ 1 จะเริ่มจากบริเวณกึ่งกลางด้านซ้าย แสดงเหตุการณ์ในช่วงที่พระพุทธเจ้ายังแสวงหาหนทางตรัสรู้เพื่อพ้นทุกข์ มีเหตุการณ์แสดงตอนที่อดพระกระยาหาร มีพระวรกายซูบผอม พระอินทร์จึงลงมาดีดพิณสามสาย แสดงความหมายถึงวัตรปฏิบัติที่หากตึงเกินไปสายพิณก็จะขาด หย่อนเกินไปก็ไม่มีความไพเราะ ต้องมีความพอดีไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปจึงจะบรรเลงได้ดี พระโพธิสัตว์พิจารณาแล้วจึงพบว่า ทางสายกลางนั้นแล้วคือ “หนทางแห่งการตรัสรู้”
ตอนที่ 2 ด้านซ้ายสุดของภาพ แสดงเหตุการณ์ตอนที่นางสุชาดา บุตรีเศรษฐีกวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ เพื่อนําไปบวงสรวงเทพยดาขอพรให้ได้พบสามีที่ดีและมีบุตรที่ดี เทวดาก็ลงมาช่วยนางกวนข้าวนั้นด้วย และในภาพส่วนนี้ช่างเขียนได้เขียนภาพบ้านของนางสุชาดาเป็นอาคารแบบตะวันตกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตามอย่างบ้านเจ้านายและคหบดีที่มีฐานะในสมัยนั้น โดยที่หน้าบันของบ้านเขียนข้อความว่า “สก 129” ตรงกับพุทธศักราช 2454 ปีแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนที่ 3 ภาพถัดมาแสดงเหตุการณ์ตอนที่นางสุชาดานำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองไปถวายพระพุทธเจ้า ด้วยเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา
ตอนที่ 4 ภาพลําดับถัดมา แสดงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าฉันข้าวมธุปายาสนั้นแล้วจึงนําถาดทองไปลอยน้ำ และอธิษฐานว่าหากจะได้ตรัสรู้พบหนทางพ้นทุกข์แล้วไซร้ ขอให้ถาดทองนั้นไหลทวนกระแสน้ำ ถาดนั้นจึงลอยทวนน้ำและจมลงบริเวณที่เป็นวิมานของพญานาค รวมกับถาดทองที่พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ได้ลอยมาก่อนหน้านี้
ตอนที่ 5 ภาพเหตุการณ์ตอนถัดไปเริ่มที่บริเวณด้านขวาของแผ่นไม้ ภาพด้านขวาสุดเป็นภาพแสดงเหตุการณ์ตอนที่พราหมณ์โสตถิยะถวายหญ้าคามารองประทับนั่ง และพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสรู้เหนือบัลลังก์ที่มีหญ้าคาปูรองนี้ ทั้งนี้ตามพุทธประวัตินั้น เหตุการณ์ในพุทธประวัตินี้ กล่าวถึงฉัพพรรณรังสีหรือรัศมีที่จะเปล่งประกายออกมารอบพระวรกายหรือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะปรากฏขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทว่าในภาพเขียนนี้ช่างเขียนได้เขียนให้พระพุทธองค์นั้นมีฉัพพรรณรังสีตั้งแต่ในภาพที่รับหญ้าคาจากพราหมณ์โสตถิยะแล้ว
ตอนที่ 6 ภาพถัดเข้าไปตรงกลางด้านขวา แสดงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าโปรดปัญจวัคคีย์
ตอนที่ 7 ถัดไปกลางภาพส่วนขวา เป็นภาพแสดงเหตุการณ์ที่เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงค์
ตอนบนของแผ่นไม้ เขียนข้อความว่า “พ่อสุกแม่เทแม่ฟอน พิแม่สาย . . . พ่อลัยสุดทองอยู่คลองยี่สาร แม่แฉ้งแม่พัวแม่พัน สร้างไว้ในพระศาสนา”
ภาพแผ่นที่ 6 : ประกอบด้วยเรื่องราวพุทธประวัติ 3 ตอน
ตอนที่ 1 แสดงเหตุการณ์ก่อนการตรัสรู้ โดยท้าววสวัตตีมารมาทวงบัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่พระพุทธเจ้าจึงแสดงสิทธิเหนือบัลลังก์นี้โดยให้พระแม่ธรณีมาเป็นพยาน พระนางจึงบีบน้ำออกจากมวยผมเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าพระพุทธเจ้านี้สั่งสมบุญบารมีมามากมายเพียงใด น้ำที่ออกมาจากมวยผมนั้นจึงท่วมกองทัพเหล่ามาร
ตอนที่ 2 แสดงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเข้าสมาธิและตรัสรู้เหนือบัลลังก์นั้น
ตอนที่ 3 แสดงเหตุการณ์ภายหลังการตรัสรู้ โดยท้าววสวัตตีมารยังไม่ยอมพ่ายแพ้ ให้ธิดามาร 3 องค์ ออกไปร่ายรำยั่วยวนพระพุทธเจ้า โดยธิดามารได้จำแลงเป็นหญิงในวัยต่าง ๆ แต่พระพุทธเจ้ามิได้สนพระทัย ในที่สุดแล้วธิดามารก็ถูกขับไล่ออกไปในสภาพของหญิงชรา
ภาพจิตรกรรมนี้มีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “โนทองแม่เชยสร้างไว้ในพระศาสนา
ภาพแผ่นที่ 7 : เป็นภาพพุทธประวัติช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ หลังจากที่ท้าววสวัตตีมารมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์จึงทรงรับว่าอีกสามเดือนจะทรงละสังขารจากโลกนี้ โดยภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มภาพ คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นภาพเล่าเรื่องตอนจุนทกัมมารบุตรจัดเตรียมอาหารเพื่อถวายพระพุทธเจ้า
กลุ่มที่ 2 ภาพพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกฉันภัตตาหารที่บ้านจุนทกัมมารบุตร
กลุ่มที่ 3 ภาพพระพุทธเจ้าประชวรเพราะวิบากกรรมในอดีตชาติ แต่ยังทรงเดินทางไปดับขันธ์ปรินิพานใต้ต้นรังคู่ที่เมืองกุสินารา แสดงเป็นภาพพระพุทธเจ้าบรรทมอยู่ท่ามกลางพระสาวก และมีภาพคนบดยาเพื่อถวายการรักษาอยู่ด้านข้าง
กลุ่มที่ 4 ภาพพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพาน ในเหตุการณ์มีดอกมณฑาร่วงหล่นลงมาจากสวรรค์ เมื่อพระมหากัสสปะ พระอัครสาวกที่ขณะนั้นอยู่ต่างเมืองเห็นดอกมณฑาร่วงลงมาจึงทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพานแล้ว
ด้านขวาของภาพมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า “แม่ถึกสร้างไว้ในพระศาสนา”
ภาพแผ่นที่ 8 : ประกอบด้วยเรื่องราวพุทธประวัติ 2 ตอน เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา
ตอนที่ 1 แสดงเหตุการณ์ตอนประชุมเพลิงพระพุทธเจ้า โดยมีพระมหากัสสปะที่อยู่ต่างเมืองและทราบข่าวจึงรีบเดินทางมา เป็นภิกษุรูปสุดท้ายที่กราบพระบาทพระพุทธเจ้าก่อนถวายพระเพลิง โดยในภาพตอนนี้ช่างเขียนวาดกลุ่มสตรีที่สวมเสื้อแบบตะวันตกแต่นุ่งโจงกระเบน
ตอนที่ 2 แสดงเหตุการณ์การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีโทณพราหมณ์ อาสาเป็นผู้ตักพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายออกไป แต่แอบซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในมวยผม เมื่อพระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นการกระทำดังนั้น จึงมาหยิบพระเขี้ยวแก้วนั้นไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เอกสารสำหรับการค้นคว้า
1. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม, “วัดเขายี่สาร” , [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://skm.onab.go.th/.../category/detail/id/110/iid/13904 [15 ก.พ. 2567].
2. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, “พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร” , [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://m-culture.in.th/album/view/17627/ [15 ก.พ. 2567].
ภาพ
1. จิตรกรรมบนแผ่นไม้ ประดับคอสอง เรื่อง พุทธประวัติ , พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร วัดเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธประวัติ จิตรกรรมบนแผ่นไม้ ประดับคอสอง.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 242 ครั้ง)