พระประธานในพระอุโบสถวัดเกาะ
ชื่อพระพุทธรูป พระประธานในพระอุโบสถวัดเกาะ
สถานที่ประดิษฐาน วัดเกาะแก้วสุทธาราม ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
ประวัติ ความเป็นมาขององค์พระประธานนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะร่วมสมัยกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนขึ้นในปี ๒๒๗๗ ตรงกับปีที่ ๒ ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยลักษณะทางพุทธศิลป์ขององค์พระประธานเป็นศิลปะอยุธยา พระพุทธรูปปางขัดสมาธิราบ พระพักตร์อิ่มเรียว พระปรางเปล่ง พระโอษฐ์ยิ้มเห็นเส้นไรพระโอษฐ์ พระขนงโค้ง พระนาสิกคมเป็นสัน พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกเล็กมีกรอบไรพระศก พระรัศมีรูปเปลวไฟอ่อนช้อย พระกรรณยาวขอบพระกรรณด้านบนแหลม ครองจีวรห่มเฉวียงบ่าแบบมหานิกาย สังฆาฏิซ้อนทับกันสองชั้นเฉลียงจากไหล่ซ้ายพาดลงมากลางพระอุระยาวจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิโค้งเล็กน้อย ขอบสบงทำเป็นแถบหนาหน้านาง องค์พระประธานประดิษฐานบนฐานรัตนบัลลังก์ไม้แกะสลักประดับกระจกสี ไม่มีผ้าทิพย์ ลวดลายงดงามด้วยงานสกุลช่างวัดเกาะ
อีกหนึ่งลักษณะเด่นของวัดเกาะแก้วสุทธาราม คือ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ซึ่งลักษณะของฝีมือเป็นแบบงานช่างพื้นบ้าน การสร้างสรรค์ภาพจึงมีความเป็นอิสระกว่างานช่างหลวง โดยลักษณะพิเศษของงานจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะอยู่ที่การออกแบบองค์ประกอบภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่ของผนัง และการแสดงออกที่ไม่ยึดติดกับความงามจนเกินไป ทำให้ช่างสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ชัดเจน
โดยจิตรกรรมเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและไตรภูมิโลกสัณฐานตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณี แต่มีความน่าสนใจคือ การสลับตำแหน่งของเหตุการณ์ในภาพจิตรกรรม ซึ่งโดยมักจะพบว่านิยมเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐานอยู่เบื้องหลังพระประธาน และเบื้องหน้าจะเขียนภาพมารผจญ ทว่าจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดเกาะนี้ช่างได้เขียนภาพเบื้องหลังพระประธานเป็นภาพมารผจญ และเบื้องหน้าเป็นภาพจักรวาล
(จำนวนผู้เข้าชม 379 ครั้ง)