...

ธรรมาสน์ เมืองเพชร ศิลปะสกุลช่างในจังหวัดเพชรบุรี

         เมืองเพชรบุรีได้ชื่อว่างานช่างนั้นมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและงดงาม โดยรู้จักกันทั่วไปในกลุ่มงานช่างในชื่อว่า “สกุลช่างเมืองเพชร” เป็นสกุลช่างที่งานฝีมือเกิดจากช่างพื้นบ้านและได้พัฒนาทั้งระดับฝีมือ รูปแบบและเนื้อหา จนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น ช่างเมรุ ช่างต่อเรือ ช่างทำเกวียน ช่างเรือน ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยจะเน้นไปที่รูปแบบ โครงสร้าง และลักษณะของการสร้างธรรมาสน์ในเมืองเพชรบุรี

         "ธรรมาสน์" หมายถึง ที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) โดยทั่วไปมักสร้างด้วยไม้ เป็นที่นั่งยกพื้นสูงกว่าระดับปกติ หรือรองรับด้วยฐานที่ตกแต่งอย่างงดงาม เพื่อแสดงถึงสถานะสูงส่งของพระสงฆ์ในฐานะผู้ถ่ายทอดพระธรรมเทศนาในวัฒนธรรมไทย และเป็นกิจกรรมที่แสดงฐานะและบุญบารมีของทั้งผู้อุปถัมภ์การสร้างและวัดที่เป็นเจ้าของธรรมาสน์เช่นกัน

 

ความสัมพันธ์ของธรรมาสน์กับกลุ่มช่างต่าง ๆ

         ในยุคสมัยหนึ่งที่กระแสงานช่างเป็นที่นิยมมากในเมืองเพชร ตามเอกสารได้อธิบายยุคสมัยนี้ว่า “งานช่างยุคกระฎุมพอุปถัมภ์ (พ.ศ. 2400 – 2500)” ที่ลักษณะและรูปแบบของงานช่างจะสร้างขึ้นตามรสนิยมของช่างและผู้อุปถัมภ์ร่วมกัน ซึ่งความนิยมในการสร้างธรรมาสน์นั้นเริ่มมีขึ้นในช่วง 2460 เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่พบหลักฐานการสร้างธรรมาสน์จำนวนมากที่สร้างโดยกลุ่มช่างสำคัญ เช่น ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดเกาะ ธรรมาสน์กลุ่มช่างสำนักวัดยาง ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย และธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพระทรง ซึ่งครอบคลุมระยะเวลายาวนานจนถึงช่วงปี 2509 ช่วงสุดท้ายของความนิยมในการสร้างธรรมาสน์ 

     ดังนั้น จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ของธรรมาสน์กับกลุ่มช่างต่าง ๆ ที่พบในแต่ละพื้นที่ และศึกษาว่าธรรมาสน์เหล่านั้นมีรูปแบบ โครงสร้าง และลักษณะการสร้างธรรมาสน์เป็นอย่างไรตามวิถีช่างในแต่ละกลุ่มช่าง โดยสรุปได้ดังนี้

 

กลุ่มช่างสำนักวัดยาง

         กลุ่มช่างสำนักวัดยาง มีความเชี่ยวชาญงานไม้ด้านงานโครงสร้างมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่พระเทพวงศาจารย์ (หลวงพ่ออินทร์ อินทโชโต) เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2524) ท่านเป็นครูช่างที่มีบทบาทมากที่สุดในขณะนั้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนช่างไม้วัดยาง ในปี พ.ศ. 2478 หรือวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรีในปัจจุบัน 

         สำหรับการสร้างธรรมาสน์ของกลุ่มช่างสำนักวัดยาง แสดงให้เห็นการนำเอาขนบและรูปแบบทางศิลปกรรมที่ยึดโยงกับธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลายมาใช้เป็นต้นแบบ ธรรมาสน์ชิ้นสำคัญของช่างกลุ่มนี้ คือธรรมาสน์ที่ศาลาการเปรียญวัดยาง มีประวัติที่สันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ.2423 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้อุปถัมภ์หลัก คือ คุณแม่เลี่ยม พิชัยชลสินธุ์ 

         ลักษณะสำคัญของธรรมาสน์ในกลุ่มนี้ มีจุดสังเกตที่สำคัญเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสร้างมาก่อนธรรมาสน์หลังอื่นๆ ในช่วงที่นิยมสร้างธรรมาสน์ นั่นคือ แผ่นกระจกที่กระทงธรรมาสน์นั้นใช้กระจกเกรียบ ซึ่งนิยมใช้กันตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา แต่ธรรมาสน์ในเมืองเพชรบุรีช่วงหลัง พ.ศ. 2460 กลับไม่นิยมใช้กระจกลักษณะนี้ กลุ่มช่างสำนักวัดยางพยายามปรับให้เข้ากับสมัยนิยม ส่วนยอดยังใช้เครื่องทรงแบบสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ คือ บางหลังมีบรรพแถลงกับบางหลังใช้กระจังแทน โดยตัวกระจังปฏิญาณจะมีลักษณะแข็ง ดุดัน ตวัดปลายสะบัดพลิ้วไหวอย่างทรงพลัง ให้ความรู้สึกที่เข้มแข็งมากกว่าและไม่นิยมลวดลายที่อ่อนช้อย 

         ธรรมาสน์กลุ่มนี้จะมีความสูงจากฐานถึงยอดราว 5.47 เมตร ฐานกว้าง 1.54 เมตร ยาว 1.54 เมตร เรือนธาตุสูง 1.89 เมตร ยอด 4 ชั้น ไม่นิยมใส่สาหร่าย ล่องถุนนิยมทำแบบอยุธยาคือ เปิดช่องลมให้โปร่งหรือทำแบบกระเท่เซ มีดอกประจำยามติดอยู่ที่กลางล่องราชวัตร บันไดนาคนิยมทำหางนาคม้วนตลบด้วยกระหนก 3 ตัวเช่นเดียวกับกลุ่มช่างอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

กลุ่มช่างวัดเกาะ

         กลุ่มช่างวัดเกาะมีชื่อเสียงในเชิงช่างหลายแขนง ทั้งงานโครงสร้างและงานแกะสลัก พบว่าในทศวรรษ 2460 พระครูญาณวิจัย (อธิการยิด สุวณฺโณ) เป็นครูช่างคนสำคัญที่ทำการสอนเขียนและแกะสลักลวดลายต่างๆ และมีพระอาจารย์ผูกเป็นผู้สอนงานโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม โดยงานช่างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดจะเป็น งานช่างธรรมาสน์ 

         ลักษณะที่โดดเด่นของธรรมาสน์ช่างวัดเกาะคือ เป็นการเลียนแบบงานศิลปกรรมสมัยอยุธยา ในลักษณะของรัตนโกสินทร์ มีการประดับลวดลายที่วิจิตร ตัวกระจังปฏิญาณและกระจังมุมที่มีลักษณะเป็น 3 มิติ แตกต่างจากสมัยอยุธยา ตรงคูหามีสาหร่ายหัวนาคแกะสลักอย่างสวยงามรายล้อมไปด้วยเทวดาถือพระขรรค์และลายกนก ยอดนิยมแบบทรงจอมแห ทั้งยอดและคูหาทำแบบแอ่นโค้งเว้าคล้ายงานสมัยอยุธยา บริเวณล่องถุนธรรมาสน์นิยมแกะสลักลวดลายเป็นเนื้อเรื่องตอนต่างๆ ในวรรณกรรมรามเกียรติ์และนิยมสร้างตัวแบกจำพวกลิง ครุฑ และนก ประดับกระจกและปิดทองทั้งหลัง โดยสรุปลักษณะเฉพาะของธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดเกาะ ได้ว่า 

         1. กระจังของกลุ่มวัดเกาะจะมีลักษณะสะบัดตวัดไปมาซ้อนกัน 3 ตลบ 

         2. โดยส่วนใหญ่มักจะติดตัวแบกไว้ที่มุมของธรรมาสน์ทั้ง 4 ด้าน เช่น แกะเป็นหนุมานแบกที่วัดลาดโพธิ์ ครุฑที่วัดเกาะ และตัวกินกรวิกที่วัดชีว์ประเสริฐ

         3. บริเวณล่องถุนธรรมาสน์มักจะเป็นพื้นที่สำหรับการอวดฝีมือไม่แพ้ส่วนอื่นๆ กล่าวคือ ที่ล่องถุนมักจะแกะลวดลายเช่นเดียวกับกลุ่มวัดพระทรง แต่ของกลุ่มวัดเกาะเป็นเรื่องราวของรามเกียรติ์ นิยมเขียนรายนามของผู้บริจาคและชื่อของช่างผู้สร้าง ปีที่สร้าง และจำนวนเงินที่สร้าง

 

กลุ่มช่างวัดพระทรง

         กลุ่มช่างวัดพระทรงมีชื่อเสียงในด้านของงานวาดเขียน โดยมีช่างเขียนและครูช่างที่มีชื่อเสียง คือ ครูหวน ตาลวันนา ขุนศรีวังยศ (ขันธ์ เกิดแสงสี) และพระอาจารย์เป้า ปญฺโญ ผลงานที่โดดเด่นของสำนักวัดพระทรง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของขุนศรีวังยศ โดยพระอาจารย์เป้า จะเป็นผู้แกะสลักลวดลาย คือ ธรรมาสน์วัดพระทรง ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดพระทรง สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2460

         ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพระทรงจะทำตามแบบที่ลอกเลียนโครงสร้างของงานแบบสมัยอยุธยามาสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการประดับลวดลายสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจำหลักไม้ด้วยความประณีต มีความละเอียดทุกชิ้นทุกส่วน ยอดเป็นทรงจอมแหและนิยมแกะสลักล่องถุนธรรมาสน์เป็นเรื่องทศชาติชาดก รามเกียรติ์ ลายเทพพนม เป็นต้น หรือลวดลายแบบตะวันตก เช่น วิวทิวทัศน์ และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นมุมมองทางศิลปะที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นโดยได้รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ผ่านทางครูช่างของกลุ่มอย่างขุนศรีวังยศ ซึ่งเป็นข้าราชการในบังคับของเจ้าเมืองเพชรบุรีสมัยนั้น มีความเชี่ยวชาญในการดัดแปลงงานศิลปะตะวันตกให้เข้ากับงานศิลปกรรมไทยได้อย่างยอดเยี่ยม     

 

กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย

         กลุ่มช่างใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง โดย มีครูช่างที่ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของยุคฟื้นฟูงานช่างของเมืองเพชร นั่นคือ หลวงพ่อฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ทางการช่าง ซึ่งผลงานของท่านมีจำนวนมากและมีความสามารถทางช่างหลายแขนง ทั้งงานไม้ งานแกะสลัก งานปั้น โดยเฉพาะงานเขียนภาพ มีลูกศิษย์คนสำคัญที่คอยสานต่อฝีมือช่างอย่าง นายเลิศ พ่วงพระเดช

         กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัยมีความเชี่ยวชาญงานเขียนและงานปูนปั้นมากเป็นพิเศษ มีผลงานจำนวนมากในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 สำหรับธรรมาสน์ของกลุ่มช่างวัดพลับฯ เริ่มในปี 2465 บนศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย ซึ่งเป็นผลงานของนายเลิศ พ่วงพระเดช ลักษณะของธรรมาสน์มีความแตกต่างจากกลุ่มช่างอื่นๆ ไม่มาก มีความละม้ายคล้ายคลึงจะไปเหมือนกับกลุ่มช่างวัดพระทรง ก็คือ ยอดของธรรมาสน์มีลักษณะเป็นยอดทรงจอมแหลดหลั่นชั้นลงมา เป็นเหลี่ยมตรงขึ้นไป ลดหลั่นระดับชั้นของยอดลงมาเป็นแนวตรงแบน มีสาหร่ายประดับ ล่องถุนธรรมาสน์นิยมแกะเป็นลายเทพพนม หัวสิงห์ หรือรามเกียรติ์ มีรายนามของผู้เป็นเจ้าภาพออกปัจจัยสร้างธรรมาสน์ อาจเป็นได้ว่า ช่างพลับพลาชัยกับช่างวัดพระทรงต่างเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กัน เนื่องจากมีหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัยเป็นครูช่างใหญ่ ลักษณะที่มีกลิ่นอายของศิลปกรรมตะวันตกจึงปรากฏอยู่ทั่วไปในกลุ่มช่างทั้งสองแห่งนี้

 

 

เอกสารและหลักฐานการค้นคว้า

      1. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดเกาะ. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดเกาะ, ธรรมาสน์วัดลาดโพธิ์วัดชีว์ประเสริฐ, ธรรมาสน์วัดชีว์ประเสริฐ, ธรรมาสน์วัดลาดโพธิ์.

      2. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดยาง. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดยาง, ธรรมาสน์วัดสำมะโรง, ธรรมาสน์วัดหนองควง, ธรรมาสน์วัดราษฎร์ศรัทธา.

      3. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพระทรง. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดพระทรง, ธรรมาสน์วัดแรก, ธรรมาสน์วัดขุนตรา.

      4. ธรรมาสน์กลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย. ภาพถ่าย ธรรมาสน์วัดพลับพลาชัย, ธรรมาสน์วัดสามพราหมณ์, ธรรมาสน์วัดหนองจอก, ธรรมาสน์วัดกุฎีดาว, ธรรมาสน์วัดน้อย.

      5. เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ และ ชนัญญ์ เมฆหมอก, “ธรรมาสน์ไม้แกะสลักในเพชรบุรี: การวิจัยเชิงสำรวจ”, โครงการวิจัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562) 

      6. ดวงกมล บุญแก้วสุข, “ศิลปะสกุลช่างเพชรบุรี : งานปูนปั้นปัจจุบันย้อนอดีต”, วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557)

      7. ชุชนัญญ์ เมฆหมอก.  (2561).  “ธรรมาสน์เมืองเพชร : พลวัตของวัฒนธรรมงานช่างไม้ในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น”. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.      

      8. ชุชนัญญ์ เมฆหมอก.  (2563).  “ธรรมาสน์สำนักช่างวัดเกาะ : ประวัติศาสตร์วัตถุในบริบทวัฒนธรรมกระฎุมพีเมืองเพชร”. วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ ฉบับ ที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2563.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1002 ครั้ง)


Messenger