พูดจา “ภาษาเพชร” โดย ทองใบ แท่นมณี
พูดจา “ภาษาเพชร” โดย ทองใบ แท่นมณี
“ภาษา” คือ ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่นเดียวกันกับ “ภาษาถิ่น” ที่จะเป็นเอกลักษณ์และสื่อให้เห็นถึงตัวตนของท้องถิ่นนั้น ๆ จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภาษาถิ่นเพชรบุรีหรือภาษาเมืองเพชร ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นสำเนียงซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ
ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาษาถิ่นเมืองเพชร คือ การพูดเสียงเหน่อ เรียกกันว่า “เหน่อเพชรบุรี” โดยเอกลักษณ์ของระดับเสียงเหน่อเมื่อเทียบกับเสียงภาษากลางแล้ว เทียบได้โดยผ่านการออกเสียงของวรรณยุกต์ ยกตัวอย่างเช่น การออกเสียงวรรณยุกต์ของภาษาถิ่นเมืองเพชร ถ้าจะเทียบกับภาษากลางแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็น “การออกเสียงวรรณยุกต์แบบถอยหลัง” เช่น เสี่อน ถอยระดับเสียงจาก เสี้ยน, อ่วน ถอยระดับเสียงจาก อ้วน (ซึ่งจะแตกต่างจากเสียงเหน่อกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ที่มักเป็น “การออกเสียงวรรณยุกต์แบบเดินหน้า” เช่น ด่ากัน เป็น ด้ากั๋น, พ่อแม่ เป็น พ้อแม้ เป็นต้น) และในบางเสียงเมื่อเทียบกับภาษากลาง จะออกเสียงวรรณยุกต์แบบข้ามระดับ เช่น จากเสียงสามัญ ไปเสียงจัตวา เช่น น้วล ข้ามระดับเสียงจากคำว่า นวล, เถ้าแก๋ ข้ามระดับเสียงจากคำว่า เถ้าแก่
ซึ่งความน่าสนใจเกี่ยวกับภาษาถิ่นเมืองเพชร ก็คือ ลักษณะของรูปประโยค โดยจะขอเริ่มจากการใช้ประโยคปฏิเสธ คำว่า “ไม่” โดยทั่วไปแล้วมักใช้เป็นคำปฏิเสธ อย่างเช่น ไม่เอา ไม่กิน ไม่สวย แต่สำหรับภาษาถิ่นเมืองเพชรแล้วคำว่า “ไม่” ในรูปประโยคปฏิเสธจะค่อนข้างแตกต่างจากภาษากลางที่ใช้โดยทั่วไป กล่าวคือ ภาษาถิ่นเมืองเพชร ใช้คำว่า “ไม่” ตามหลังคำที่ปฏิเสธและเปลี่ยนวรรณยุกต์ของคำหน้า “ไม่” เป็นเสียงตรี ยกตัวอย่าง
ไม่กิน คนพื้นเมืองเพชรบุรีพูดว่า กิ๊นไม่
ไม่เอา คนพื้นเมืองเพชรบุรีพูดว่า เอ๊าไม่
ไม่สวย คนพื้นเมืองเพชรบุรีพูดว่า ซ้อยไม่
ไม่ร้อน คนพื้นเมืองเพชรบุรีพูดว่า ร้อนไม่
กรณีฟังเสียงจริง ๆ คำว่า “ไม่” อาจจะเลือนแผ่วเหลือแต่เสียงตัว ม ม้า ซึ่งสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยอาจเข้าใจว่าไม่ได้ปฏิเสธ สำหรับวิธีการพูดปฏิเสธของคนเพชรบุรีเอง ก็มีความบังเอิญตรงกับการพูดปฏิเสธของกะเหรี่ยงเผ่าปโว (ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี) อีกด้วย นอกจากนี้ ได้มีความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นนี้ว่า คนเพชรบุรี คงพูดปฏิเสธตามแบบไทยโบราณ ที่พูด “หา . . . ไม่” เช่น ประโยคพูดที่ว่า “เขา หา ได้ทำร้ายผู้ใด ไม่ (เขาไม่ได้ทำร้ายผู้ใด)” หรือ “หา เป็นไร ไม่ (ไม่เป็นอะไร)” เป็นต้น
อีกหนึ่งวิธีการพูดปฏิเสธ โดยจะใช้คำว่า ฮึ หรือ ฮึอึ้ เป็นคำตอบที่ใช้ในการปฏิเสธ ซึ่งแปลว่า “ไม่” แต่ไม่ค่อยนิยมใช้นัก เพราะเป็นคำที่ไม่สุภาพมากนัก
ต่อมาเป็นการใช้ประโยคคำถามในภาษาถิ่นเมืองเพชร โดยทั่วไปคำที่ใช้ลงท้ายในประโยคคำถามเป็นคำที่ใช้กับคำที่ใช้ในภาษาเขียน ไม่นิยมใช้ในภาษาพูด โดยคำที่ต่อท้ายประโยคคำถามที่ปรากฏให้เห็นอยู่ก็จะมีคำว่า “หรือ” “รึ” “เหรอ” แต่สำหรับชาวพื้นเมืองเพชรบุรีใช้กันหลากหลายเสียง เช่น เหรี่ย, หรี่, เหยี่ย, เหร่, เหร่อ ตัวอย่างประโยค เช่น
ไปนามาเหรี่ย ? (ไปนามาหรือ)
กิ๊นไม่หรี่ ? (ไม่กินหรือ)
เอ๊าไม่เหร่ ? (ไม่เอาหรือ)
มาแล้วเหร่อพ่อตัวดี ? (มาแล้วรึพ่อตัวดี)
เรื่องราว “ภาษาถิ่นเมืองเพชร” ที่ได้เรียบเรียงขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือของ “อาจารย์ทองใบ แท่นมณี” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาของจังหวัด ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อต้องการส่งเสริมการใช้และสืบทอดภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้เป็นมรดกทางวัฒธรรมที่สำคัญของชาติต่อไป
เอกสารสำหรับการสืบค้น
ทองใบ แท่นมณี. (2552). พูดจา ภาษาเพชร. พิมพ์ครั้งที่ 4. เพชรบุรี : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี.
.
ดาวน์โหลดไฟล์: พูดจา “ภาษาเพชร” โดย ทองใบ แท่นมณี.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 5724 ครั้ง)