ตามประทีปโคมไฟ
ตามประทีปโคมไฟ งานที่จัดขึ้นเนื่องในวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี นี้นั้น นับว่าเป็นงานที่จะร่วมกันสร้างมหาบุญกุศลร่วมกันของคนในจังหวัดเพชรบุรี และผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน อีกทั้งเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสืบสานประเพณีการทำโคมตราตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้มีขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวัน วิสาขบูชา และเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำโคมและเครื่องแขวน
นอกจากเป็นวันสำคัญและเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างเนิ่นนานควบคู่วันวิสาขบูชาแล้วนั้น งาน “ตามประทีปโคมไฟ” ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ความศรัทธาเกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้ว ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้เข้าไปมีบทบาทกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้ถูกนำมาเป็นนัยสำคัญที่แสดงถึงสภาพการปกครอง และสังคมในยุคสมัยนั้นด้วย
“. . . เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาดประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีลและทรงทำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน . . .” ข้อความในหนังสือเรื่อง “#นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการปรากฏของงาน “ตามประทีปโคมไฟ” ครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ซึ่งจากข้อความดังกล่าวข้างต้น การประกอบพิธีในงาน “ตามประทีปโคมไฟ” มีมาเนิ่นนาน และเป็นงานที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชา
“วิสาขปุรณมีบูชา” หรือก็คือ #วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยถือว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาจะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน วันวิสาขบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 และเป็นประเพณีของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ”
สมัยสุโขทัย ในหนังสือเรื่อง นางนพมาศ ได้กล่าวไว้ว่า “. . . ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วนิคมคามชนบท ก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยาพระหลวงและเศรษฐีชีพราหมณ์ บ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสว ห้อยย้อยพวงบุปผาชาติประพรมเครื่องสุคันธรส . . .” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การจัดพิธีที่ยิ่งใหญ่และครึกครื้นไปทั่วทั้งราชธานี แสดงถึงความมั่งคง มั่งคั่ง ทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรมมในพุทธศาสนา
นอกจากนั้นก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ได้ร่วมกระทำอันเป็นบุญกุศลร่วมกัน อย่างที่ปรากฏในหนังสือ นางนพมาศ ว่า
“. . . มหาชนชักชวนกันรักษาพระอุโบสถศีล สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททกคนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อถ่ายชีวิตสัตว์จัตุบาททวิบาทชาติต่าง ๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์เป็นอันมาก . . .”
ทว่าประเพณีดังกล่าวนี้มิได้กล่าวถึงอีกในสมัย #อยุธยา จนถึงสมัย #รัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่มีการปรากฏหลักฐานใน “กาพย์แห่เรือ ” ว่ามีการประกอบพิธี “ตามโคมประทีป” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ไม่ได้เถลิงสิริราชสมบัติ แต่ไม่ได้ปรากฏในแบบแผนพิธีวิสาขบูชาในขณะนั้น โดยมีความว่า
คำนึงถึงเดือนหก ทั่วทายกตามโคมเคย
งามสุดนุชพี่เอย ได้เห็นกันวันบูชา
(ประชุมกาพย์เห่เรือ, 2503 : 22)
ต่อมาช่วงรัชสมัย #พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศักราช ๒๓๖๐ มีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล โปรดเกล้าฯ ให้จัดตกแต่งโต๊ะหมู่บูชา โคมเทียน และเทียนต้นประดับดอกไม้สด ตั้งและแขวนรายรอบศาลา ระเบียงและกำแพงแก้วพระอุโบสถ โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ
ในรัชสมัย #พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเพิ่มการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชานี้ จนมาใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่งาน “ตามประทีปโคมไฟ” ปรากฏหลักฐานที่แสดงความเป็นลักษณะการจัดการที่นำมาใช้สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยในรัชสมัยของ #พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน และหน่วยราชการต่าง ๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังในเอกสารเรื่อง “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 7 : หมายรับสั่ง แลบาญชีโคมตรา ในการพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่4” ให้ความว่า
“. . . แลในวันเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำ มิพระธรรมเทศนาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง 3 คืนเหมือนอย่างทุกปี . . . อนึ่งให้พันจันทนุมาศ จัดดอกไม้เพลิงไปบั่กนอกพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันออก . . . นิมนต์พระสงฆ์ที่ทรงธรรมกถึกให้สำแดงธรรมเทศนา . . . ครั้นเพลาค่ำตามโคมประทีปทุกน่าบ้าน ทุกร้าน ทุกเรือน ทุกแพ จงทุกแห่ง . . . แล้วให้หมายบอกข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทำโคมรูปตราสำหรับตำแหน่งที่ผู้กินเข้ามาแขวน ณวันเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำทั้ง 3 คืน . . .”
“#โคมตรา” เอกลักษณ์และธรรมเนียมที่สำคัญของงาน “ตามประทีปโคมไฟ” พิจารณาตามความหมายเมื่อแยกออกจากกัน “โคม” หมายถึง เครื่องตามไฟหรือเครื่องให้แสงสว่าง ส่วน “ตรา” เครื่องหมายที่ทำขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อแสดงสัญลักษณ์แทนบุคคลหรือองค์กร ตราในที่นี้ก็ คือ เหล่าหน่วยงานราชการ องค์กร และพุทธบริษัท รวมไปถึงโคมตราจากสถาบันกษัตริย์ และเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจากเอกสารที่ปรากฏ ไม่ว่า “จดหมายเหตุ” หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอธิบายว่า ธรรมเนียมนี้ที่ปรากฏในวันวิสาขบูชา เพื่อให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมจัดทำโคมไฟหรือเทียนมาถวายเป็นพุทธบูชาโดยเสด็จพระราชกุศล ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ก็จะสื่อความหมายว่า “บุคคลหรือองค์กรที่จะนำทางไปสู่สิ่งที่ดีสิ่งที่งาม โดยนำหลักแห่งธรรมนำทาง”
ในสมัยรัชกาลที่ 4 การถวายโคมตรา เป็นส่วนหนึ่งในพิธีอันเป็นกุศลในวันวิสาขบูชา ซึ่งนอกจากเป็นธรรมเนียมเพื่อการกุศลแล้ว ภายในงานก็ได้มีการจัดแข่งขันโคมตราขึ้นมาและมีรางวัลพระราชทาน อนึ่งว่าเป็นการกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้กับหน่วยงานที่มาเข้าร่วม โดยโคมตราแต่ละลวดลายในสมัยก่อนนั้น ก็มาเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย ในอดีตโคมตราเป็นรูปราชสีห์ ปัจจุบันก็ยังเป็นราชสีห์ หรือกระทรวงกลาโหม ในอดีตโคมตราเป็นรูปคชสีห์ ปัจจุบันก็ยังคงใช้คชสีห์เช่นเดิม
ในรัชกาลที่ 5 รัชสมัยของ #พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีและธรรมเนียมยังคงเป็นเช่นเดิมเหมือนแต่โบราณ ตามที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” แม้พระองค์จะทรงเชื่อว่า “นางนพมาศ” จะถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็ทรงเห็นด้วยว่า
“. . . หนังสือเรื่องนี้ ของเดิมเขาน่าจะมีจริง เพราะลักษณะพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมาเป็นตำราพิธีจริงและเป็นพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยา . . .”
ต่อมาในรัชสมัย #พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ช่วงสมัยที่โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนปีจากรัตนโกสินทร์ศก เป็นปีพระพุทธศักราช เนื่องจากทรงถือความสำคัญของพระพุทธศักราช ที่เริ่มนับตั้งแต่วันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และโปรดเกล้าฯ ให้ทำบัตรอวยพรในวันวิสาขบูชา
ปัจจุบันแม้ “ตามประทีปโคมไฟ” จะยังคงสืบสานประเพณีและพิธีการอันเป็นกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชาเหมือนอย่างเดิม แต่อาจจะไม่ใช่ประเพณีที่มีความดั่งเดิมเหมือนแต่โบราณ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการตามยุคตามสมัย หรือไม่เป็นดั่งเฉกเช่นพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มีพระราชดำริให้มีขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเนื่องในวันวิสาขบูชา ถึงกระนั้นเป้าหมายและการให้ความสำคัญในคุณงามความดีอันเป็นกุศลก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
กรมศิลปากร. เรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์, พิมพ์ครั้งที่ 23 โรงพิมพ์ ภักดีประดิษฐ์. เอกสารเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม (29 มีนาคม 2508)
ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. (2554). การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
กรมศิลปากร. ประชุมกาพย์เห่เรือ. พระนคร : รุ่งเรืองธรรม, 2503. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม) วันที่ 5 มิถุนายน 2503.
หอพระสมุดวชิรญาณ. เรื่อง ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 7 : หมายรับสั่ง แลบาญชีโคมตรา ในการพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่4, โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร. เอกสารเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ (2463).
(จำนวนผู้เข้าชม 2136 ครั้ง)