...

ย้อนรอยพระจอมเกล้าฯ ตอน พระราชมณเฑียรสถาน พระอภิเนาว์นิเวศน์



          ย้อนรอยพระจอมเกล้าฯ ตอน พระราชมณเฑียรสถาน "พระอภิเนาว์นิเวศน์"

          นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) หลักฐานชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

          ในปีขาล พุทธศักราช ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างพระราชอุทยานขึ้นในพระบรมมหาราชวัง อันมีชื่อว่า สวนขวา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อสวนขวา และนำเอาสิ่งก่อสร้าง และเครื่องประดับสวน นำไปอุทิศถวายแก่พระอารามสำคัญ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวยังว่างอยู่ จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานขึ้นเพิ่มเติมจากพระราชมณเฑียรเดิมที่มีมาแต่ครั้งสถาปนากรุงฯ ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ) ความว่า

          ". . . จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่กอง ให้ทำพระมหาราชมนเทียรขึ้นอีก ๕ องค์ ให้รื้อพระตำหนักเดิมมาปลูกไว้ด้วย และให้สร้างพระที่นั่งสูง มีพื้น ๕ ชั้น สำหรับทอดพระเนตรไปไกลๆ องค์ ๑ แล้วให้สร้างพระที่นั่งสำหรับไว้ขององค์ ๑ แล้วมีหอสำหรับพระสงฆ์เจริญพระปริตรหลัง ๑ สำหรับไว้พระแสงเครื่องศาสตราคมหลัง ๑ สำหรับเลี้ยงแขกเมืองหลัง ๑ ชักเขื่อนเพ็ชรล้อมรอบ สำหรับพวกพนักงานอยู่ทุกพนักงาน ชั้นนอกเขื่อนเพ็ชรเชิงเทินปราการตรงหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นองค์ ๑ และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เดิมก็โปรดให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ ทำป้อมที่พระราชวังกำแพงตรงถนนบำรุงเมือง ให้ชื่อป้อมสัญจรใจวิง . . ." 

          เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระที่นั่งและอาคารต่างๆ ไว้อย่างคล้องจองกัน ดังความในพระราชพงศาวดารฯ ต่อมาว่า 

          ". . . พระที่นั่งหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามชื่อพระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งสูง ๕ ชั้น ชื่อภูวดลทัศไนย พระที่นั่งสุทธาสวรรย์โปรดให้แปลงชื่อว่าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ท้องพระโรงเสด็จออกให้ชื่อพระที่นั่งอนันตสมาคม พระมหามนเทียรฝ่ายในองค์ ๑ ชื่อบรมพิมาน ท้องพระโรงฝ่ายในที่เฝ้าชื่อนงคราญสโมสร พระพิมานฝ่ายใต้องค์ ๑ ชื่อจันทรทิพโยภาศ พระพิมานฝ่ายเหนือองค์ ๑ ชื่อภาณุมาศจำรูญ พระตำหนักเดิมชื่อมูลมนเทียร หอพระปริตรชื่อว่าหอเสถียรธรรมปริตร หอแสงศาสตราคมให้ชื่อว่าหอราชฤทธิรุ่งโรจน์ หอที่เลี้ยงแขกเมืองให้ชื่อว่าหอโภชนลีลาศ พระที่นั่งไว้ของประหลาดต่างๆ ชื่อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ . . ." และพระราชทานนามหมู่พระราชมณเฑียรสถานแห่งใหม่นี้ว่า "พระอภิเนาว์นิเวศน์"

          นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๐๒ ซึ่งเป็นปีที่สร้างเสร็จพระอภิเนาว์นิเวศน์จึงมีความสำคัญ ในฐานะพระราชมณเฑียรสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทั่งเสด็จสวรรคต โดยในระหว่างนี้ได้ใช้สถานที่ดังกล่าวในการสำคัญๆ อาทิ การเสด็จออกรับทูตจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาทำหนังสือสัญญาเจริญพระราชไมตรี เช่น ฮอลันดา, ปรัสเซีย, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส เป็นต้น 

          ดังปรากฏภาพเขียนสีน้ำมันที่ประดับอยู่ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท แสดงการเสด็จออกแขกเมืองของพระองค์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

          ภายหลังสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระอภิเนาว์นิเวศน์ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เนื่องจากไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับอีก ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้รื้อเสีย อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสร้างพระราชนิเวศน์แห่งใหม่ นั่นคือ พระราชวังสวนดุสิต จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำเอานามท้องพระโรงของพระอภิเนาว์นิเวศน์ มาใช้เป็นนามของท้องพระโรงแห่งใหม่นั้น ปรากฏนามที่รู้จักกันจนปัจจุบันว่า "พระที่นั่งอนันตสมาคม"

 

เรียบเรียง : ณัฐพล ชัยมั่น

อ้างอิง

วัชรญาณ : พระราชพงศาวดาร-กรุงรัตนโกสินทร์-รัชชกาลที่-๔/๔๐-สร้างพระอภิเนาวนิเวศน์

(จำนวนผู้เข้าชม 893 ครั้ง)