หงส์ประดับสันหลังคาหอไตร วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่
หงส์ประดับสันหลังคาหอไตร วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่
ศิลปะล้านนา (ฝีมือช่างพื้นบ้าน) พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
ได้มาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หงส์ เคลือบสีเขียว ใต้ท้องเนื้อดินสีน้ำตาลไม่เคลือบ ทำเป็นรูปสัตว์ปีกคล้ายหงส์ ยกเว้นส่วนท้องเนื้อดินออกสีแดง เดิมหงส์เคลือบสีเขียวชิ้นนี้ประดับอยู่บนสันหลังคาของหอไตร วัดพระสิงห์
หงส์เป็นราชาสัตว์ปีก ในทางพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการ* ขณะเดียวกันยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ทางพุทธศาสนา และเป็นบุคลาธิษฐาน** สื่อถึงพระอรหันต์ผู้พ้นกิเลสทั้งปวง ในงานสถาปัตยกรรมศิลปะล้านนา มักนิยมประดับรูปหงส์ จากเทคนิควิธีต่าง ๆ เช่น ลายคำรูปหงส์ร่วมกับลายหม้อปูรณฆฏะ หรือรูปหงส์ตัวเดียว งานดินเผารูปหงส์ประดับสันหลังคา งานปูนปั้นประดับซุ้มโขงเป็นรูปหงส์หันหน้าเข้าหากัน เป็นต้น ด้วยความเชื่อว่าหงส์จะนำพระธรรม ความบริสุทธิ์มาสู่พุทธสถานแห่งนั้น
สำหรับหอไตรวัดพระสิงห์ มีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และหอ มีการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระองค์ได้ทรงเป็นประธานในการบูรณะร่วมกับพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้านครเชียงใหม่ในขณะนั้น
*ลายมงคลรูปหงส์นั้น ตามคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณ (ลักษณะพระพุทธบาท) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บรรยายถึงลายมงคล ๑๐๘ ประการของรอยพระพุทธบาท กล่าวว่า มงคลข้อที่ ๕๔ หังสราชา (หํงสราชา) คือ พระยาหงส์ หมายถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไม่ทรงยินดีโลกิยสาระ คือ เงินทองมีแก้ว ๗ ประการ เป็นต้น แต่พระองค์ทรงยินดีในโลกุตตรธรรม คือ มรรค ผล นิพาน ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้ง ๓ มิใช่เพื่อพระองค์เลย จึงได้รับการถวายพระนามว่า หังสราชา
**พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายคำว่า “บุคลาธิษฐาน” หมายถึง มีบุคคลเป็นที่ตั้ง ที่ยกคนหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมอื่น ๆ ขึ้นมาเป็นหลักในการอธิบาย เช่น เปรียบกิเลสเหมือนพญามาร คู่กับ ธรรมาธิษฐาน
อ้างอิง
กรมศิลปากร. การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. กรุงเทพฯ: เฮงศักดิ์มั่นคง, ๒๕๕๙.
จรีย์ สุนทรสิงห์. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิค, ๒๕๔๓ (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่ระลึกเนื่องในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓).
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์. ศาสตร์ ศิลป์ จิตวิญญาณ วิหารล้านนา. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 710 ครั้ง)