...

พระพิมพ์ภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิ์สัตว์ในวิมาน

       พระพิมพ์ภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิ์สัตว์ในวิมาน

       สมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๔

       พบที่เขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง

       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       พระพิมพ์ทรงกลม ทำจากดินดิบสีขาวนวล กึ่งกลางเป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงปางมารวิชัยประทับในพระวิมาน ขนาบข้างด้วยพระโพธิ์สัตว์ประทับภายในพระวิมานองค์ละหลัง ด้านขวาของพระวิมานมีรูปเสาธรรมจักรหันข้าง ส่วนด้านซ้ายพระวิมานมีรูปสถูป 

       ลักษณะวิมานทำเป็นหลังคาชั้นซ้อน กึ่งกลางเป็นกุฑุรูปวงโค้งคล้ายเกือกม้า ส่วนยอดบนสุดประดับด้วยชิ้นส่วนรูปทรงคล้ายกลีบมะเฟืองที่เรียกว่า อามลกะ (ตามแบบสถาปัตยกรรมของศิลปะอินเดียภาคเหนือ) ใต้พระวิมานมีจารึกคาถา เย ธมฺมาฯ อักษรเทวนาครี เบื้องล่างสุดเป็นรูปสรรพสัตว์ทั้งหลาย

       พระพิมพ์ชิ้นนี้ได้รับการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมีของแร่ธาตุ พบว่ามีส่วนผสมของแร่แคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งน่าจะเป็นเศษกระดูกหรืออัฐิธาตุที่มาจากร่างของผู้วายชนม์นำมาผสมกับดินสร้างเป็นพระพิมพ์ชิ้นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความเห็นเกี่ยวกับการสร้างพระพิมพ์ในพื้นที่ภาคใต้ไว้ว่า 

      “...คิดดูก็เห็นว่าพระพิมพ์ดินดิบนี้จะเป็นของสร้างบรรจุอัฐิธาตุของพระสงฆ์เถระแต่โบราณจริง จึงทำเป็นดินดิบ เพราะอัฐิธาตุนั้นได้เผาครั้งหนึ่งแล้วและการที่สร้างพระพิมพ์บรรจุอัฐิธาตุ เป็นแต่เพื่อปรมัตถประโยชน์* ของผู้มรณภาพ...”

      ส่วนการรับรู้เกี่ยวกับพระพิมพ์ที่เขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุงนั้น จากเอกสาร “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑” ของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ว่า วันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) พระอธิการได้นำเอาพระพิมพ์จากถ้ำเขาอกทะลุมาให้พระองค์ได้ทอดพระเนตร พระองค์จึงตัดสินใจเดินทางไปถึงถ้ำเขาอกทะลุ ดังความตอนหนึ่งว่า 

      “...ถึงถ้ำมีรูปพระประกับฝังดินอยู่มากกว่ามาก ขุดอยู่จนบ่าย ๒.๓๕ จึงกลับขึ้นช้างไป ได้พระพิมพ์มามาก แต่ยังไม่รู้ว่ารูปอะไรต่ออะไร เพราะเปียก ชำระดูไม่ได้...”

 *ปรมัตถประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์อันสูงสุด

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑.พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๐.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๒.๕๖/๒๔. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง อธิบายเรื่องพระพิมพ์ดินดิบในพิพิธภัณฑ์ พระนคร (๑๐ พฤษภาคม ๒๔๗๒).

(จำนวนผู้เข้าชม 443 ครั้ง)


Messenger