...

พระโพธิสัตว์จุนทา ๖ กร

          พระโพธิสัตว์จุนทา ๖ กร

          สมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          รูปพระโพธิสัตว์จุนทา ๖ กร พระเศียรรวบพระเกศาเกล้าขึ้นเป็นมวย (ชฎามกุฏ) กึ่งกลางมีสถูปขนาดเล็ก และทรงอุณหิศประดับตาบสามเหลี่ยม ปลายพระเกศาปล่อยลงมาปรกพระอังสา พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง ริมพระโอษฐ์ทาด้วยสีแดง พระพาหาทรงพาหุรัด สองพระกรคู่หลังยกขึ้นแสดงการทรงวัตถุในพระหัตถ์ (แต่ชำรุดหักหายไป) สองพระกรคู่หน้าแสดงปางสมาธิ และสองพระกรคู่กลางพระหัตถ์ขวาแบฝ่าพระหัตถ์ออก พระหัตถ์ซ้ายชำรุดหักหายไป พระวรกายทรงยัชโญปวีต (หรือสายธุรำ แสดงถึงการเป็นนักบวช) ประทับขัดสมาธิเพชร บนฐานดอกบัว เบื้องหลังเป็นแผ่นประภามณฑลประดับด้วยกระหนกรูปเปลวไฟ

          พระโพธิสัตว์จุนทา (หรือบางครั้งเรียก จุณฑี) เป็นหนึ่งในธยานิโพธิสัตว์เพศหญิง กล่าวกันว่าเป็นเสมือนมารดาของพระพุทธเจ้า ในคัมภีร์นิษปันนโยคาวลี (Nispannayogavali) กล่าวว่าคำที่ใช้เรียกขานพระโพธิสัตว์องค์นี้คือ “จุณฑาธารณี” (Cundā Dhāraṇī) และในคัมภีร์ มัญชูวัชระมณฑล (Mañjuvajra-mandala) ระบุว่าพระโพธิสัตว์จุนทาจัดอยู่ในกลุ่มธยานิพุทธไวโรจนะ พระโพธิสัตว์จุนทานั้นมีรูปเคารพแสดงพระกรที่ต่างกันไป ทั้งแบบสองกร สี่กร หกกร แปดกร และมากถึงสิบหกกร ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ในศิลปะอินเดีย ตัวอย่างเช่น ประติมากรรมพระโพธิสัตว์จุนทาสัมฤทธิ์ (๔ กร) ศิลปะอินเดียสมัยปาละ พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ พบในมหาวิทยาลัยนาลันทา ภาพวาดพระโพธิสัตว์จุนทา ๖ กร ที่ถ้ำเอลโลร่า (Ellora Cave) หมายเลข ๑๐ เป็นต้น การนับถือพระโพธิสัตว์จุนทานั้นแพร่หลายไปในหลายประเทศที่นับถือพุทธศาสนามหายาน โดยเฉพาะทิเบต จีนและญี่ปุ่น ส่วนบ้านเมืองในพื้นที่คาบสมุทรและหมู่เกาะ โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์จุนทาในสมัยศรีวิชัยทั้งแบบประติมากรรมสัมฤทธิ์ เช่น ประติมากรรมพระโพธิ์สัตว์จุนทา ๔ กร สัมฤทธิ์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จากาตาร์ และรูปสลักพระโพธิสัตว์จุนทาบนผนังด้านนอกของจันทิเมนดุต (Candi Mendut) ศิลปะชวาภาคกลาง พุทธศตวรรษที่ ๑๔

          สำหรับประติมากรรมพระโพธิสัตว์จุนทา ๖ กรชิ้นนี้ แสดงรูปแบบของศิลปะอินเดียได้แก่ ชฎามกุฏ และฐานบัว แต่ในขณะเดียวกันการทำแผ่นหลังทึบดังกล่าวกลับพบได้ทั่วไปในกลุ่มประติมากรรมสัมฤทธิ์ศิลปะชวา และลักษณะความเป็นท้องถิ่นของประติมากรรมชิ้นนี้คือเปลวไฟที่ประดับขอบแผ่นหลังนั้น ไม่ได้มีลักษณะเดียวกับศิลปะอินเดียหรือศิลปะชวา ประกอบกับทำประดับไว้ห่าง ๆ กันไม่ได้ติดกันเป็นแถบ ดังนั้นประติมากรรมชิ้นนี้ จึงน่าจะสร้างขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยรับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียและชวา

 

 

อ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ศิลปะไทยภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี: มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘.

ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: อักษรสมัย, ๒๕๔๓.

Puspa Niyogi. “Cundā - a Popular Buddhist Goddess.”.East and West Vol. 27, No. 1/4 (December 1977), pp. 299-308.

(จำนวนผู้เข้าชม 378 ครั้ง)


Messenger