ผอบหกเหลี่ยมถมปัด (เครื่องประกอบเชี่ยนหมาก)
ผอบหกเหลี่ยมถมปัด (เครื่องประกอบเชี่ยนหมาก)
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
ไม่ปรากฏที่มา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผอบรูปทรงหกเหลี่ยม ขึ้นรูปจากโลหะทองแดงตกแต่งด้วยเทคนิคการถมปัด ปากผอบผายออกเล็กน้อย มีรูปทรงหยักโค้งคล้ายกลีบดอกไม้ ขอบปากผอบด้านนอกตกแต่งเป็นลายใบเทศบนพื้นสีแดง ตัวผอบเป็นทรงหกเหลี่ยม ผิวด้านนอกแบ่งเป็นลายช่องกระจกเขียนลายก้านต่อดอกใบเทศ เชิงผอบเป็นทรงกลมตกแต่งเป็นลายกลีบบัวคว่ำซ้อนกลีบ ภายในกลีบบัวมีลายใบเทศ ฝาผอบหยักโค้งเป็นรูปทรงคล้ายกลีบดอกไม้ (รับกับปากผอบ) ตกแต่งด้วยลายใบไม้บนพื้นสีแดง กึ่งกลางฝาเป็นจุกยอดแหลม
ผอบ หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่ของ มีเชิง ฝาครอบมียอด มักทำด้วยโลหะหรือไม้กลึงเป็นต้น* ซึ่งผอบชิ้นนี้เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพานหมากถมปัด ซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานถวายพระภิกษุสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ และเหตุที่ใช้โลหะทองแดงนั้น เพราะวัสดุทองกับเงินถือเป็น ๒ ใน ๑๐ วัตถุอนามาส สิ่งที่พระภิกษุไม่ควรจับตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย
เครื่องถมปัด คือภาชนะทองแดงที่มีการเคลือบน้ำยาผสมกับผงที่มาจากการป่นลูกปัดสี แต่เดิมนิยมนำเข้าจากประเทศจีน ชาวตะวันตกรู้จักกันแพร่หลายในนาม “เครื่องลงยากวางตุ้ง” (Canton enamel ware) เรียกตามเมืองที่มีแหล่งผลิต เครื่องถมปัดที่ถวายพระสงฆ์นั้นนิยมลงยาสีพื้นเป็นสีเหลือง ขณะเดียวกันมีเครื่องถมปัดลงยาสีพื้นอื่น ๆ ด้วย อาทิ สีแดง สีดำ สีน้ำเงิน ภาชนะถมปัดที่ถวายพระสงฆ์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ กระโถน กาน้ำ ฝาบาตร พานหมาก หีบหมาก กระโถนใหญ่ กระโถนเล็ก ลักจั่น** ปิ่นโต ฯลฯ
*ตามความหมายใน: ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖. หน้า ๗๙๐.
.
**ลักจั่น หมายถึง นํ้าเต้าหรือภาชนะดินรูปคล้ายนํ้าเต้าสำหรับบรรจุนํ้าในเวลาเดินทางอย่างที่พระธุดงค์ใช้ ตามความหมายใน: ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖. หน้า ๑๐๖๘.
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๕.
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. โลหศิลป์ ณ พระที่นั่งปิจฉิมาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 532 ครั้ง)