...

ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๖ จารึกหลักที่ ๑)

      ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ : เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๖ จารึกหลักที่ ๑)

      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จออกธุดงค์ยังหัวเมืองเหนือ ทรงค้นพบจารึกหลักที่ ๑ เมื่อวันกาบสี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ จ.ศ. ๑๒๑๔ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๓๗๖ ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งการค้นพบครั้งสำคัญนี้ ปรากฏความในเทศนาพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ว่า  

   “...เมื่อปีมะเส็ง เบญจศก ศักราช ๑๑๙๕ เสด็จไปประพาศเมืองเหนือ นมัสการเจดียสถานต่างๆ ไปโดยลำดับ ประทับเมืองศุโขไทย เสด็จไปเที่ยวประพาสพบแท่นศิลาแท่นหนึ่ง เขาก่อไว้ริมเนินปราสาทเก่าหักพังอยู่ เป็นที่นับถือกลัวเกรงของหมู่มหาชน ถ้าบุคคลไม่เคารพเดินกรายเข้าไปใกล้ ให้เกิดเจ็บไข้ไม่สบาย ทอดพระเนตรเห็นแล้ว เสด็จตรงเข้าไปประทับ ณ แท่นศิลานั้น ก็มิได้มีอันตรายสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยอำนาจพระบารมี เมื่อเสด็จกลับรับสั่งให้ชะลอลงมา ก่อเป็นแท่นไว้ที่วัดราชาธิวาศ ครั้นภายหลังได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ดำรัสสั่งให้นำไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อนึ่ง ทรงได้เสาศิลาจารึกอักษรเขมร เสา ๑ จารึกอักษรไทยโบราณเสา ๑ ซึ่งตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตศาสดารามนั้น มีเนื้อความอัศจรรย์เป็นศุภนิมิตดังแสดงว่าพระองค์จะได้เป็นอิสระในสยามรัฐ เป็นพระบรมกษัตริย์มีพระเดชานุภาพกิตติคุณแผ่ไปดังพระบาทอมรเตงอัญ ศรีสุริยพงษรามมหาราชาธิราช ซึ่งเป็นเอกราชในเมืองศุโขไทย มีจดหมายไว้ในเสาศิลาฉะนั้น....”

 

ภาพ : จารึกพ่อขุนรามคำแหง (จารึกหลักที่ ๑) ด้านที่ ๑ และด้านที่ ๒ (ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

 

(จำนวนผู้เข้าชม 255 ครั้ง)