แรกนาในสมัยรัชกาลที่๔
#แรกนาในสมัยรัชกาลที่๔
.
พระราชพิธีแรกนา หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นหนึ่งในพระราชพิธีโบราณ ที่มีหลักฐานว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล ด้วยเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในยุคนั้น พระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีจุดมุ่งหมายในทางที่จะสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม แบบแผนของพระราชพิธีดังกล่าว มีการสืบทอด และปรับเปลี่ยนตามกาลสมัย กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เพิ่มพิธีสงฆ์ไปด้วย เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า
.
“…การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศกศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ไมได้เผาศพฝังศพในที่นั้น ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมพวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง…”
.
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีแรกนาขวัญ ในหัวเมืองนอกราชธานีด้วย
.
“…ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับแล้วก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตํารวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง พันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก
หัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทานเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งเขาทําแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ๒ เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ๆ เป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนาเป็นผู้แรกนาแทนตัว เมืองสุพรรณบุรีอีกเมืองหนึ่งก็ว่ามีแรกนา ไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน แต่ในปีนี้ได้จัดให้มีการแรกนาขึ้นเป็นการหลวงอีกเมืองหนึ่ง…”
.
ภาพ : ภาพฉายจากบนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มองเห็นพื้นที่ระหว่างพระนครคีรีกับเขาพนมขวด ซึ่งเป็นที่ดินที่ปรากฏหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อ และใช้ประกอบพิธีแรกนา
.
พระราชพิธีแรกนา หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นหนึ่งในพระราชพิธีโบราณ ที่มีหลักฐานว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล ด้วยเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในยุคนั้น พระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีจุดมุ่งหมายในทางที่จะสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม แบบแผนของพระราชพิธีดังกล่าว มีการสืบทอด และปรับเปลี่ยนตามกาลสมัย กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เพิ่มพิธีสงฆ์ไปด้วย เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า
.
“…การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศกศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ไมได้เผาศพฝังศพในที่นั้น ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมพวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง…”
.
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีแรกนาขวัญ ในหัวเมืองนอกราชธานีด้วย
.
“…ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับแล้วก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตํารวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง พันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก
หัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทานเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งเขาทําแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ๒ เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ๆ เป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนาเป็นผู้แรกนาแทนตัว เมืองสุพรรณบุรีอีกเมืองหนึ่งก็ว่ามีแรกนา ไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน แต่ในปีนี้ได้จัดให้มีการแรกนาขึ้นเป็นการหลวงอีกเมืองหนึ่ง…”
.
ภาพ : ภาพฉายจากบนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มองเห็นพื้นที่ระหว่างพระนครคีรีกับเขาพนมขวด ซึ่งเป็นที่ดินที่ปรากฏหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อ และใช้ประกอบพิธีแรกนา
(จำนวนผู้เข้าชม 852 ครั้ง)