มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๖ วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๖ วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามเมื่อการสมโภชเดือนว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษบริพรรต บรมขัตติยมหารชดาภิสิญจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร พระนามทั่วไปเรียกว่า "ทูลกระหม่อมเอียดน้อย"
พระองค์มีพระโสทรเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีรวม ๗ พระองค์ ได้แก่
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
เมื่อพระองค์เจริญวัยครบกำหนดที่จะตั้งการพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พร้อมกันนี้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ก็มีพระชนม์ครบกำหนดโสกันต์เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการโสกันต์และเฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์ขึ้นพร้อมกันบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกในประเทศอังกฤษ เสด็จกลับมารับราชการในรัชกาลที่ ๖ เป็นนายพันโท ราชองครักษ์ ตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐม ต่อมาเป็นนายพันเอก ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก แล้วเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ เลื่อนเป็นกรมหลวงฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เสด็จประพาสสหรัฐ มลายูและชวา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ แดนญวน เขมร และอเมริกา พุทธศักราช ๒๔๗๓ พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ๒๔๗๕ เสด็จยุโรป เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๖ ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ที่ประเทศอังกฤษ
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดยพระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับ และเสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ที่ประเทศอังกฤษ ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ พระชนมพรรษา ๔๘ ปี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ที่สืบสายจากพระบรมชนกนาถ
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(จำนวนผู้เข้าชม 1228 ครั้ง)