มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๒๑ กันยายน ๒๓๑๐ วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๒๑ กันยายน ๒๓๑๐ วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า บุญรอด พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๓๑๐ ณ ตำบลอัมพวา เมืองราชบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระพี่นางพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด ในเวลาต่อมาได้มีพระราชปฏิพัทธ์ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งในเวลาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด มีพระประสูติกาลพระราชโอรส สามพระองค์
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
๒. สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศ์อิศรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร เป็นพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๒ ต่อมา เสวยราชเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าจุธามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ต่อมารับบวราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชกาลที่ ๒ แม้จะมิได้โปรดเกล้าฯ สถาปนนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี แต่เป็นที่รู้กันในราชสำนักว่าทรงอยู่ในฐานะดังกล่าว จึงขานพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา มาแต่ในรัชกาลนั้นจนตลอดพระชนมายุ
สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด สวรรคตเมื่อวันเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๓๗๙ ด้วยพระโรคชรา สิริพระชนมายุได๖๙ พรรษา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ความว่า "วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ เวลาเช้า ๔ โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราสวรรคตในวันนั้น" ส่วนในหนังสือ จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์ บันทึกไว้ว่า "ปีวอก จ.ศ. ๑๑๙๘ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ พันวษานิพพาน เพลาเช้า ๒ โมงเศษ พระชนมายุได้ ๖๙ พรรษา"
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรส เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระบรมอัฐิพระบรมราชชนนี ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ในคราวบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๓๙๔ ถึงรัชกาลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ออกพระนามเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี
ภาพ : พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ แท่นเบื้องหน้าพระแท่นบรรทมคือพระแท่นลด จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(จำนวนผู้เข้าชม 3206 ครั้ง)