...

สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๔ เสด็จประพาสยุโรป ๒ คราว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองบรันซวิก ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๕๐ เสด็จฯ พร้อมด้วยดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันซวิก โดยรถม้า ไปยังที่ประทับ ดยุคฯ ฉลองพระองค์ ประดับดาราและสายสร้อยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
 

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๑ ในระยะต้นรัชกาล พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสทวีปยุโรป เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีกับรรดาประเทศมหาอำนาจในซีกโลกตะวันตก แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) ได้กราบบังคมทูลทัดทานไว้ก่อน ด้วยเห็นว่าเป็นระยะทางที่ไกลมาก และการเดินทางยังไม่สะดวก อาจประสบอุปัทวันตราย พระบาทสมแด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จฯ ไปประพาสดินแดนใกล้เคียงกับราชอาณาจักรสยามแทน อันได้แก่ สิงคโปร์ ชวา พม่า และอินเดีย 

         ในระยะเวลาต่อมา อิทธิพลของชาติมหาอำนาจสำคัญสองประเทศ คืออังกฤษและฝรั่งเศสที่แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนรอบข้างสยาม ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ วิกฤตการณ์รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่ทำให้สยามต้องเสียดินแดนประเทศราช และเกิดปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตัดสินพระทัยที่จะเสด็จประพาสยุโรป เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ดังพระราชปรารภ ความตอนหนึ่งว่า

            “...ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าการที่เสด็จประพาสเมืองต่างประเทศดังได้เสด็จมาแล้ว แม้เมืองเหล่านั้นเปนแต่เมืองขึ้นของมหาประเทศซี่งอยู่ในประเทศยุโรป ก็ยังเปนเหตุให้เกิดการเจริญรุ่งเรืองแก่พระราชอาณาจักรได้เปนอันมาก ถ้าเสด็จได้ถึงมหาประเทศเหล่านั้นเอง ประโยชน์ย่อมจะมีขึ้นอิกหลายเท่า ทั้งที่จะได้ทรงตรวจตราแบบแผนราชการบ้านเมือง และจะได้วิสาสะคุ้นเคยกับพระมหากษัตริย์รัฐบาลแห่งนานาประเทศใหญ่น้อยในประเทศยุโรป เจริญทางพระราชไมตรีซึ่งมีต่อกรุงสยามให้เรียบร้อยรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย...”

           ถึงพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรป มีระยะเวลาประมาณ ๙ เดือน ซึ่งในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาอีกคณะหนึ่ง รักษาราชการแผ่นดินตลอดระยะเวลาเสด็จประพาส โดยมีกำหนดที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ดังนี้คือ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรียและฮังการี รัสเซีย สวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ เยอรมัน ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และอียิปต์ รวม ๑๔ ประเทศ 

          เฉพาะประเทศเยอรมนี ซึ่งขณะนั้นยังเป็นจักรวรรดิเยอรมัน ได้เสด็จฯ ราชรัฐต่างๆ และเมืองสำคัญอย่างทั่วถึง และได้เสด็จฯ ไปยังเมืองเมคเคลนบวร์ค-ชเวริน ในระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ (พุทธศักราช ๒๔๔๐) ซึ่งที่เมืองนี้ ดยุคโยฮัน อัลเบิร์ต ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนแกรนดยุคแห่งเมคเคลนบวร์ค เฝ้ารับเสด็จ และจัดให้มีงานเลี้ยงถวายพระเกียรติอย่างเต็มยศในคืนแรก และในคืนต่อมายังจัดให้ทอดพระเนตรละครเป็นอย่างงานกาลาพิเศษด้วย 

 

       อีก ๑๐ ปีต่อมา ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๖ (พุทธศักราช ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง ปรารภเหตุดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ความว่า 

             “...ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพระสำราญมานานแล้ว เมื่อได้เสด็จดำเนินประพาศหัวเมือง ก็กลับทรงพระสำราญไปชั่วคราว แต่ครั้นราชกิจกรากกรำหนักเข้าก็ดี ทรงกระทบฤดูแปรไม่ปรกติก็ดีกลับไม่ทรงสบายไปอีก แต่เปนดังนี้มาหลายขวบปี ในศกนี้พระอาการกำเริบกว่าก่อน ดอกเตอร์โบเมอร์ผู้ถวายพระโอสถ ตรวจพระอาการลงสันนิษฐานว่า โกฐาสภายในพระกายไม่เปนไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนี้ไม่ถูกแก่อากาศชื้นเช่นในฤดูฝนชุกและร้อนจัด เช่นในฤดูคิมหะ ตำบลที่จะรักษาพระโรคเช่นนี้ได้เหมาะดีที่สุดก็มีแต่ในประเทศยุโรป จึงกราบบังคมทูลถวายแนะนำ ในหน้าที่ของแพทย์เพื่อเสด็จประพาศยุโรป บำรุงพระกายให้คืนเปนปรกติ... ทรงปฤกษาพระบรมวงษานุวงษ์ผู้ใหญ่ และท่านเสนาบดีต่างก็เห็นชอบตามคำแพทย์...”

           จากเหตุดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปอีกครั้ง กำหนดเวลาประมาณ ๗ เดือน และเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เดนมาร์ก นอรเวย์ และอียิปต์ โดยในคราวนี้ เสด็จประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีมากที่สุด ด้วยเป็นสถานที่สำหรับประทับรักษาพระองค์ตามคำแนะนำของแพทย์

          ในช่วงเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองนี้ ดยุคโยฮัน อัลเบิร์ต ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งราชรัฐบรันซวิก  แทนเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งปรัสเซียซึ่งสิ้นพระชนม์ลงในปีนั้น (๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกำหนดเสด็จฯ ไปยังเมืองบรันซวิก  ดังความในพระราชหัตถเลขามีมาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ว่า    “...ดุ๊กโยฮันอัลเบรต ได้เปนริเยนต์เมือง บรานสวิก จะรับฉันที่บรานสวิก...”

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังราชรัฐบรันซวิก ในระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๓ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ (พุทธศักราช ๒๔๕๐) ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ทรงจัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ดังที่พระองค์ได้ทรงเล่าถึงการรับเสด็จเมืองเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองบรันซวิกไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านความว่า 

            “...มาถึงบรันซวิกเวลาบ่าย ๔ โมง ดุ๊กโยฮันอัลเบร็ต ริเยนต์เมืองนี้ กับข้าราชการผู้ใหญ่แต่งเต็มยศอย่างคาลาทั้งนั้น รับที่สเตชั่น ต่างคนต่างปลื้มในการที่ได้พบกันอิก แลเปนการประหลาด เมื่อมาคราวก่อน ๑๐ ปีมาแล้ว ก็ถูกเวลาพึ่งเปนริเยนต์เมืองชเวริน คราวนี้ก็ถูกเวลาพึ่งเปนริเยนต์เมืองบรันซวิกเปนในเดือนเดียวกัน ระยะเท่ากันกับที่พ่อมาคราวก่อน ขึ้นรถกับดุ๊ก ๒ คนอย่างแห่ มีราษฎร ๒ ข้างถนนโห่ร้องเต็มไปตลอดจนถึงวัง แต่งซุ้มใบไม้แขวนธงหรูอย่างครั้งชะเวริน พอออกจากสเตชั่นประเดี๋ยวหนึ่งฝนก็ตก ดุ๊กวุ่นจะให้สวมเสื้อชั้นนอก ฤๅจะกางประทุน พ่อห้ามเสีย กลัวว่าราษฎรทั้งปวงจะไม่เปนที่พอใจ เพราะเหตุที่มาแต่ทางไกลๆ มาก มีถ่ายรูปนับไม่ถ้วน ตลอดจนซีเนมะโตกราฟ ต่อจวนถึงชลอซ ฝนจึงได้ตกมากลงมา แต่ไม่ทันเปียกทั่วตัว มีข้าราชการฝ่ายวังยืนเรียงแถว ที่จริงแต่งตัวยุนิฟอมงามมาก ตลอดจนมหาดเล็กเด็กชา...”

              ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่เมืองบรันซวิกนี้ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต จัดให้มีการรับเสด็จรูปแบบต่างๆ มากมาย ตั้งแต่วันแรก อาทิ งานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำซึ่งเป็นงานเต็มยศ ทอดพระเนตรบัลเล่ต์ที่โรงละครหลวง เสด็จฯไปทอดพระเนตรโรงผสมม้า การประลองยุทธใหญ่ การสาธิตการดับเพลิง การแสดงดนตรี กีฬา และประพาสชมบ้านเมือง โดยตลอดเวลาที่ประทับอยู่นั้น   “...ดุ๊กริเยนต์แลดัชเชส เจ้าพนักงานฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อย ตลอดทั้งอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ได้จัดการรับเสด็จโดยความเอื้อเฟื้อตั้งใจแลประกอบด้วยความรื่นเริงยินดี เปนที่สำราญพระราชหฤทัยเปนอันมาก...”

                   ความสำราญพระราชหฤทัย และความยินดีที่มีต่อการเสด็จฯ เมืองบรันซวิกครั้งนี้ ปรากฏในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ในตอนที่ทรงเล่าถึงเมืองบรันซวิกว่า  

        “...ความที่เอาใจใส่ของดุ๊กริเยนต์นั้นพบหมอทุกเวลา เอาโปรแกรมออกหาฤๅ ยอมให้หมอทักท้วงห้ามปราม จนกระทั่งที่ซึ่งจะไปก็หาหมอไปดูเสียก่อนทุกแห่ง ให้ตัดสินว่ากระไดนี้จะควรขึ้นได้ฤๅไม่ได้เปนต้น หมอปลื้มเต็มที ชมแล้วชมเล่า แกช่างหยอดดุ๊กเสียจริงๆ...” 

        ครั้นเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงเล่าว่า “...มีความอาไลยอาวรณ์กันกับดุ๊กแลดัชเชสอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่มาอยู่รู้สึกสบายจริงๆ วันล่วงเข้าไปเรวเหลือเกิน ประเดี๋ยวเดียวก็ครบ ๓ คืนแล้ว...”
         ดุ๊กโยฮันอัลเบิร์ต แห่งเมคเคลนบวร์ก เป็นผู้หนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงพบในการเสด็จประพาสทวีปยุโรปทั้งสองคราว ด้วยเหตุที่ทรงรู้จักมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๒๖ การรับเสด็จของดยุคฯ ในการเสด็จประพาสทั้งสองคราว จึงเป็นการรับเสด็จที่อบอุ่น และเอาใจใส่ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีของทั้งสองพระองค์  ทั้งยังสมพระเกียรติ ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งสยามราชอาณาจักร ซึ่งเสด็จฯ มาเจริญทางพระราชไมตรียังนานาประเทศในยุโรปเพื่อสร้างการยอมรับในระดับนานาประเทศด้วย  พระราชไมตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อดยุคโยฮัน อัลเบิร์ตจะปรากฏแจ่มชัดอีกครั้ง เมื่อดยุคโยฮันอัลเบิร์ต เดินทางมายังราชอาณาจักรสยามอีกครั้ง ในอีก ๒ ปีเศษต่อมา 

          

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองบรันซวิก ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๕๐ เสด็จฯ พร้อมด้วยดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันซวิก โดยรถม้า ไปยังที่ประทับ ดยุคฯ ฉลองพระองค์ ประดับดาราและสายสร้อยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
ภาพประกอบ ๓ 



โปสการ์ดที่ระลึก ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เมืองบรันซวิก ในพุทธศักราช ๒๔๕๐

(จำนวนผู้เข้าชม 1221 ครั้ง)


Messenger