...

สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๕ เมื่อดยุคเยือนสยาม (อีกครั้ง)

 

           ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่สองเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐ แล้ว อีกสองปีต่อมา คือในพุทธศักราช ๒๔๕๒ ตรงกับรัตนโกสินทรศก ๑๒๘ ทางราชสำนักสยามได้รับแจ้งจากทางสถานทูตเยอรมัน ณ กรุงเบอร์ลิน ว่าดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการแห่งบรันซวิก มีความคิดจะเดินทางเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ ปรากฏเอกสารกระทรวงการต่างประเทศ ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดังนี้ 

“ที่ ๑๓๒/๕๐๒๕ ศาลาว่าการต่างประเทศ

วันที่ ๑๓ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘

ทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ

              ด้วยได้รับโทรเลขพระยาศรีธรรมสาส์น ฉบับ ๑ ลงวันวานนี้ ว่าดุกโยฮันอัลเบรชต์ รีเยนตเมืองบรันสวิกคิดจะเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเยี่ยมเยียนตอบแทน จึงขอให้พระยาศรีธรรมสาส์นถามเข้ามาว่า จะเข้ามาราวปลายเดือนมกราคมจะเปนที่พอพระราชหฤทัยหรือไม่ ถ้าเปนที่พอพระราชหฤทัยแล้วจะได้ออกจากเมืองเยนัวณวันที่ ๓๐ ธันวาคมมายังเมืองสิงคโปร์แล้วเลยตรงมากรุงเทพฯ ทีเดียว หม่อมฉันได้ถวายสำเนาคำแปลโทรเลขพระยาศรีธรรมสาส์นมาด้วยแล้ว 

ขอได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

เทวะวงษวโรประการ”

  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสตอบกลับมาความว่า 

“ที่ ๓๔/๗๗๒ พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ ๑๓ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘

ถึงกรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ

            ได้รับหนังสือเธอที่ ๑๓๒/๕๐๒๕ ลงวันที่ ๑๓ เดือนนี้ ถึงกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ส่งสำเนาโทรเลขพระยาศรีธรรมศาส์น ว่าดุกโยฮันอัลเบรชต์ ริเยนต์ เมืองบรันสวิก คิดจะเข้ามากรุงเทพฯ ราวปลายเดือนมกราคมนั้น ได้ทราบแล้ว ให้เธอตอบโทรเลขพระยาศรีธรรมศาส์นว่า จะมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ต้อนรับในปลายเดือนธันวาคมต่อมกราคมนั้น 

สยามินทร์”

  ต่อมาทางดยุคฯ ได้แจ้งแก่ทางการสยามว่า จะเลื่อนกำหนดการมาในราวปลายเดือนมกราคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสตอบรับว่า

“ที่ ๓๖/๘๐๔ พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ ๑๗ สิงหาคม รัตนดกสินทรศก ๑๒๘

ถึงกรมหลวงเทวะวงษ์วโประการ

            ได้รับหนังสือเธอที่ ๓๒/๕๑๙๒ ลงวันนี้ ส่งสำเนาโทรเลขมีไปมากับพระยาศรีธรรมสาส์น เรื่องดุ๊กโยฮันอัลเบรชต์จะเข้ามากรุงเทพฯ เธอจะโทรเลขตอบไปว่าจะรับตามกำหนดของดุ๊กนั้น ได้ทราบแล้วเห็นจะแก่เขาไม่ได้ เลื่อนตามเวลาฤกษ์ข้างเขาจะดีกว่า ถ้าเขามาปลายเดือนมกราคม น่าจะต้องกันกับเวลาฉลองพระปรางค์วัดอรุณ เมื่อตอนจวนกลับก็ไม่ขัดข้องอันใด

สยามินทร์”

         หลังจากนั้น ทางราชสำนักบรันซวิก ได้ตอบกลับผ่านทางสถานราชทูตสยามกรุงเบอร์ลิน มีความว่า 

“ที่ ๓๕/๕๑๖ สถานราชทูตสยามกรุงเบอร์ลิน

วันที่ ๒๖ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ 

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาศรีธรรมศาสน อรรคราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลิน ขอพระราชกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

         ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานมีใบบอฉบับที่ ๓๓/๔๘๗ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ร,ศก ๑๒๘ ทูลเกล้าฯ ถวายสำเนาหนังสือมีไปมากับแฮร์ฟอนแรนต์เซาว์ตำแหน่งมาร์ชัลแห่งเมืองบรานสวิก เรื่องดุ๊กโยฮันอาลเบรสจะเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในปลายเดือนมกราคมน่านั้น

ต่อมาฟอนแรนต์เซาว์มีหนังสือตอบมายังข้าพระพุทธเจ้าลงวันที่ ๒๐ เดือนนี้ ความว่าดุ๊กโยฮันอาลเบรส มีพระไทยยินดีเปนอันมากที่จะทรงพระกรุณารับรองดุ๊ก ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดสำเนาหนังสือที่อ้างนี้ผนึกมาทูลเกล้าฯ ถวายด้วยแล้ว 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาศรีธรรมศาส์น”

             ในระหว่างนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ร่างโปรแกรมการับเสด็จดยุคฯ เอาไว้ ซึ่งในโปรแกรมฉบับร่างนั้น ยังไม่ปราฏว่ามีการเสด็จมายังเมืองเพชรบุรี หากแต่เป็นการเสด็จไปยังหวัเมืองฝ่ายเหนือ ตามทางรถไฟสายเหนือที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ ปากน้ำโพ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลับแล ปางต้นผึ้ง เขาพรึง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าและเทือกเขาสูง และในเวลาต่อมาดุ๊กมีความประสงค์จะเลื่อนกำหนดการเข้ามากรุงเทพฯ ออกไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ดยุคฯ คงมาตามกำหนดเดิมด้วยมีพระราชประสงค์ให้เข้ามาทันงานประจำวัดเบญมบพิตร และทรงได้รับโทรเลขจากดยุคโยอันอัลเบิร์ตมีเข้ามา ทำให้ทรงเหตุที่ดยุคฯ จะเลื่อนกำหนดการออกไปนั้น ดังมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ ดังนี้

“สวนดุสิต วันที่ ๙ พ.ย. รัตนโกสินทรศก 

ถึงกรมหลวงเทววงษ

           เรื่องโยฮันอัลเบรชขอผัดนั้น ได้ความแล้วเปนการขลึกใหญ่มิใช่เล่น ฉันได้รับโทรเลขค่ำวันนี้เอง ว่าจะแต่งงานกับเจ้าหญิงอลิซาเบทสโตลเบิกในเดือนธันวาคม แล้วจะพากันเข้ามาขอให้รับด้วย... การที่รับฝรั่งกึกกักอยู่นั้น เราใช้ผู้ชายทั้งนั้นพอซักพอซ้อม คราวนี้จะร้อนถึงเลดีทั้งหลายแลคนใช้ เมื่อมันเปนเช่นนี้จะทำยังไร ฉันไม่รู้ที่จะตอบ ได้ส่งโทรเลขมาให้ดูจะตอบว่ากระไร

สยามินทร์”

              ในเวลาต่อมา ได้มีโทรเลขจากราชสำนักบรันซวิกผ่านมายังสถานอรรคราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลิน ยืนยันว่า ดยุคฯ จะเสด็จเข้ามายังกรุงเทพฯ ตามกำหนดการเดิม ดังปรากฏในสำเนาจดหมายของกรมราชเลขานุการ ความว่า

“ที่ ๑๐๙/๑๐๒๒ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ 

กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ 

  ได้รับลายพระหัถที่ ๒๒๘/๗๙๕๐ ลงวันที่ ๑๖ เดือนนี้ ว่าพระยาศรีธรรมศาส์นมีโทรเลขตอบยืนยันเรื่องดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์จะมาถึงกรุงเทพ า วันที่ ๒๗ มกราคมตามกำหนดเดิม ประทานสำเนาโทรเลขที่ทรงมีไปมามาด้วย นั้น ได้นำกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว 

สมมตอมรพันธุ์”

            ปลายเดือนพฤศจิกายนศกนั้น มีลายพระหัตถ์จากพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชส่งถึงเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีใจความว่า 

ศาลายุทธนาธิการ

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ร,ศ, ๑๒๘ 

กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทราบฝ่าพระบาท

โปรแกรมย่อรับดุ๊กโยฮันอัลเบรกตที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ใต้ฝ่าพระบาทฉบับก่อนนั้น ครั้นเมื่อดุ๊กโยฮันอัลเบรกตจะมีเจ้าหญิงมาด้วย จึงต้องเปลี่ยนโปรแกรมใหม่ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งโปรแกรมใหม่นี้มาถวาย ได้ถวายมากับจดหมายนี้ด้วยแล้ว โปรแกรมนี้เปนส่วนฉบับย่อไม่ใช่บับเลอียด เพื่อจะได้ประทานให้ทูตทราบ 

กับมีพระบรมราชโองการให้กราบทูลกำชับเรื่องซึ่งมีการเต้นรำที่กระทรวงการต่างประเทศวันที่ ๓๑ มกราคม ที่จะได้ทรงตระเตรียมนั้นด้วย ตามซึ่งได้เพิ่มขึ้นในโปรแกรมใหม่นี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

จิรประวัติวรเดช”

   “โปรแกรมย่อรับดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์” ในลายพระหัตถ์ข้างต้น ได้แสดงข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรับเสด็จ ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต กล่าวคือ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าดยุคฯ จะทรงนำพระชายาองค์ใหม่ที่เพิ่งอภิเษกสมรสมาเยือนสยามด้วย จึงโปรดให้มีการปรับโปรแกรมใหม่ ซึ่งจากลายพระหัตถ์ข้างต้น สันนิษฐานว่าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช จะทรงเป็นผู้ทำกำหนดการขึ้นใหม่ โดยกำหนดการฉบับใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่จัดให้ดยุคฯ เสด็จ จากเดิมที่เสด็จขึ้นไปตามเส้นทางรถไฟสายเหนือที่กำลังสร้างอยู่ในขณะนั้น ให้เสด็จมาประพาสเมืองเพชรบุรีเมืองเดียว เป็นเวลา ๔ วัน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เป็นผู้จัดการรับเสด็จ มีการเตรียมการรับเสด็จในสถานที่ต่างๆ ตามโปรแกรม นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีพระราชวังบางปะอิน กรุงเก่า และพระนครคีรี เมืองเพชรบุรี 

 

ภาพประกอบ 

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช) พระราชโอรสพระหนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศเดนมาร์ก รับราชการในกระทรวงกลาโหม  ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นเสนาบดีและจอมพล เป็นต้นราชสกุล จิรประวัติ

ทรงเป็นผู้มีส่วนในการร่างกำหนดการรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ตมาเยือนสยาม ใน ร.ศ. ๑๒๘

(จำนวนผู้เข้าชม 799 ครั้ง)


Messenger