สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๖ เตรียมการรับเจ้า
สารคดี ๑๑๒ ปี ไพรัชไมตรี ณ เมืองเพชรบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ตอนที่ ๖ เตรียมการรับเจ้า
รายละเอียดการรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ปรากฏอยู่ใน “กำหนดการรายเลอียด รับดุ๊กโยฮันอัลเบรกต์ผู้สำเร็จราชการบรันซวิก ร,ศ,๑๒๘” อันเป็นเอกสารชุดหนึ่งในเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารดังกล่าวได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการตั้งแต่วันแรกที่ดยุคโยฮันอัลเบิร์ต และคณะมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๖ มกราคม การรับเสด็จและกิจกรรมในแต่ละวันจนกระทั่งถึงวันสุดท้าย คือวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ ตลอดจนหน้าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย เฉพาะการจัดการรับเสด็จดยุคฯ ที่เมืองเพชรบุรี ใน
“กำหนดการรายเลอียดฯ” มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
“...วันที่ ๓๑ มกราคม
เจ้าเสด็จเมืองเพชร์บุรีโดยรถไฟพิเศษ ออกจากสถานีบางกอกน้อยในราว ๕ โมงเช้า ให้หลวงนายฤทธิ์จัดรถยนต์ ๓ หลังรับเจ้าไปส่งที่ท่าวาสุกรี แลจัดเรือยนต์ ๓ ลำรับเจ้าจากท่าวาสุกรี ไปส่งสถานีรถไฟบางกอกน้อย ให้นายพลตรีพระยาสุรเสนากับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรไปส่งเจ้าจนถึงสถานีบางกอกน้อย
ก่อนเมื่อเจ้าจะเสด็จนั้น ให้พระยาบุรุษย์รัตนราชพัลลภจัดมหาดเล็กเวรศักดิ์สำหรับไปกับเจ้าที่เมืองเพชร์บุรี แลจัดการขนของเจ้าแลคนฝรั่งที่จะไปกับเจ้า กับทั้งนำบ่าวของเจ้าที่จะไปด้วยนั้นล่วงหน้าไปขึ้นรถไฟเสียก่อน ให้พระยาเวียงในนฤบาลจัดคนกรมวังนอกมีพระวิสูตรโยธามาตย์เป็นผู้ควบคุม มอบให้พระยาบุรุษย์รัตนราชพัลลภสำหรับขนของจากอุดรภาคและตำหนักราชฤทธิ์มาขึ้นรถที่หน้าพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถจัดรถสำหรับบรรทุกของและจัดรถม้าไทยสำหรับรับบ่าวเจ้า ไปเตรียมไว้ที่หน้าพระที่นั่งอภิเศกดุสิตรับไปส่งที่ท่าถนนซางฮี้ ให้กรมทหารเรือจัดเรือกลไฟมีนายทหารกำกับไปคอยรับของแลคนที่ท่าถนนซางฮี้ จัดคนทหารเรือขนของจากรถลงเรือกลไปส่งที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย แลขนของจากเรือไปขึ้นรถไฟด้วย ให้ฟังคำสั่งมหาดเล็กเวรศักดิ์ที่เป็นหัวหน้าไปในการนี้
ให้กระทรวงโยธาธิการจัดรถไฟพิเศษไปส่งเจ้าที่เพชร์บุรี ให้มีนายเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบให้เป็นการเรียบร้อยตลอด
ในระหว่างที่เจ้าไปเพชร์บุรีนี้ การเลี้ยงอาหารที่รถไฟแลที่หวัเมือง ให้เป็นหน้าที่กรมมหาดเล็กเวรศักดิ์จัดการตลอดไป ให้ฟังรับสั่งกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพมีหน้าที่ดูแลจัดการตั้งแต่ออกจากสถานีบางกอกน้อยไปจนกลับกรุงเทพฯ
วันนี้รับกระเช้าอาหารกลางวันที่พระปฐมเจดีย์ สำหรับแลผู้ที่ไป พระยาราชพงษานุรักษ์ มารับที่พระปฐมเจดีย์แล้วไปด้วยในรถไฟถึงเมืองเพชร์บุรีราวเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระยาสุรินทร์ฦๅไชย รับที่สถานี รถยนต์รับไปพระนครคีรีเสวยน้ำชาบนเขา
เวลาค่ำเสวยที่พระที่นั่งเพชร์ภูมิไพโรจน์แล้วมีดอกไม้ไฟ
วันที่ ๑ กุมภาพพันธ์
เวลาเช้า ประพาศบนเขา คือไปยอดพระเจดีย์ ยอดวิหารแล้วลงวัดพระนอน แล้วไปเขาบรรไดอิฐ เที่ยวถ้ำเขาบรรไดอิฐ แล้วไปตามถนนบรรไดอิฐ ถนนบ้านหม้อ ไปเสวยกลางวันที่พลับพลาบ้านปืน แล้วกลับถนนหลังจวนมาถนนราชวิถี หยุดที่พลับพลาสนามหน้าเขามหาสวรรค์ รับราษฎร และทอดพระเนตรเล่นสรรพกีฬา เวลาค่ำเสวยบนเขา
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์
เวลาเช้า ประพาศในเมืองแล้วลงเรือถ่อที่หน้าจวนขึ้นไปเหนือน้ำ ถ้าหากว่าเลี้ยงเหนือน้ำได้ก็ให้เลี้ยงเป็นปิกนิก ถ้าขัดข้องกลับมาเสวยบ้านปืนให้รถไปรับที่บ้านปืนกลับขึ้นเขา เวลาค่ำเสวยบนเขา
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์
เวลาสายๆ เสด็จเขาหลวง เสวยในถ้ำเขาหลวง เวลาเย็นทอดพระเนตรจุดลูกหนู เวลาค่ำเสวยบนเขา
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์
ออกจากเพชร์บุรีเวลาเช้าราวโมง ๑ หยุดที่พระปฐม ขึ้นพระปฐมเจดีย์ แล้วไปโรงเรียนตำรวจภูธร เสวยที่บังกะโล แต่เมื่อลงจากพระปฐมเจดีย์นั้นถ้าเจ้าหญิงมีความเหน็ดเหนื่อยควรเลยไปบังกะโล จะเลยไปทั้งสององค์หรือองค์เดียวก่อนแล้วแต่ความประสงค์ของเจ้า บ่าย ๒ โมงเศษออกจากพระปฐมเจดีย์มากรุงเทพฯ
ให้กระทรวงโยธาธิการจัดรถไฟพิเศษมาส่งเมื่อถึงสถานีบางกอกน้อย ให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามซึ่งกล่าวมาแล้ว เมื่อขาไปนั้นจัดการรับเจ้าแลขนของมาพระราชวังดุสิตเช่นเดียวกันกับเมื่อไปนั้นทุกหน้าที่ ให้พระยา วรพงษ์พิพัฒน์คอยรับเจ้าที่สพานอุดรภาค...”
ในกำหนดการฉบับดังกล่าว ปรากฏพระนามของเจ้านายพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งระบุว่า “...ให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพมีหน้าที่ดูแลจัดการตั้งแต่ออกจากสถานีบางกอกน้อยไปจนกลับกรุงเทพฯ...” นอกจากนี้ ยังมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระยศในขณะนั้น) พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแห่งจักรวรรดิเยอรมัน ได้เป็นผู้อำนวยการรับเสด็จในคราวนี้
การจัดการรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ต และดัชเชสอลิสซาเบธ รอตซาลา พระชายา ที่เสด็จมาเยือนราชอาณาจักรสยามในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการรับรองอย่างสมพระเกียรติ ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่าดยุคโยฮันอัลเบิร์ต เป็นเจ้านายเยอรมันพระองค์หนึ่ง ประกอบกับทรงรู้จักคุ้นเคยมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๒๖ โดยในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองคราว ดยุคโยฮันอัลเบิร์ตได้รับเสด็จและจัดการรับรองอย่างสมพระเกียรติทุกคราว ด้วยเหตุนี้ จึงเสมือนทรงตอบแทนที่ ดยุคฯ ได้ให้การรับรองพระองค์ด้วยดีในระหว่างประพาสยุโรป ดังปรากฏพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชหัตถเลขาทรงมีถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ ความว่า
“สวนดุสิต วันที่ ๑๒ ต.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๘
ถึงบริพัตร
วันนี้ได้รับหนังสือโยฮันอัลเบรช บอกวันกำหนดจะถึงสิงคโปรวันที่ ๒๒ มกราคม จึงกะว่าจะถึงบางกอกราววันที่ ๒๗ เมื่อถึงสิงคโปรจะโทรเลขให้ทราบกำหนดแลชื่อเรือ... เวลานี้กำลังลงมือซ่อมอุดร พ่ออยากให้ชายมาพร้อมกับจีระแลเจ้าพระยายมราช คิดกะเสียจะให้ห้องไหนเปนห้องนอนห้องนั่งของใคร คนที่มาด้วยจะอยู่ด้วยกันในที่เดียวได้ฤๅจะต้องแยก ถ้าหากว่าจะแยกให้อยู่ใกล้ก็มีราชฤทธิเปนที่ว่าง ... สังเกตุดูโยฮันอัลเบรชคิดมาออกจะเปนยศๆ เพราะคราวก่อนแกมาอย่างเลวๆ คราวนี้เปนริเยนต์ เขารับเราก็เปนยศทั้ง ๒ คราว แต่ข้างฝ่ายวัลดิมานั้น มาอย่างเงียบแท้...อยากจะขอให้คิดกันกับจีระถึงรูปแห่งการรับรองเปนเค้าเงื่อนทั้ง ๒ ราย ก่อนที่จะให้กรมหลวงนริศรคิดต่อไป ขอให้พร้อมกันช่วยคิดอ่านสักหน่อย
สยามินทร์”
มีหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกนายทหาร ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนีโดยเฉพาะ ให้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์ดยุคฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพันตรี หลวงภูวนารถนฤบาล (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภายหลังเป็น พลเอกพระยาเทพหัสดิน) นายพันตรี หลวงจัตุรงควิไชย (เตี้ยม ภายหลังเป็น พลตรีพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์) และว่าที่นายร้อยเอก นายจำรัส (ภายหลังเป็น พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ) เป็นราชองครักษ์พิเศษ มาตั้งแต่ปลายปี ๒๔๕๑ และเมื่อดยุคโยฮันอัลเบิร์ตและพระชายาเสด็จถึงกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ นายพันโท หลวงจัตุรงควิไชย (เตี้ยม) และ นายร้อยเอก หลวงอภิบาลภูวนารถ ประจำพระองค์ดยุค และโปรดเกล้าฯ ให้ อุ๊น ภรรยาพระยามหิบาลบริรักษ์ (ภายหลังเป็นคุณหญิงมหิบาลบริรักษ์) ประจำพระองค์ดัชเชสอลิสซาเบธฯ พระชายา
ก่อนการเสด็จมาสยามของดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ในปลายเดือนมกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๕๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการเตรียมการรับเสด็จทั้งในกรุงเทพฯ อยุธยา และเพชรบุรี เฉพาะที่เมืองเพชรุบรีนั้น ในช่วงปลายปีนั้น พระองค์เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีถึง ๓ ครั้ง คือครั้งแรกต้นเดือนกันยายน คราวเสด็จประพาสต้นมณฑลราชบุรี ครั้งที่สองภายหลังจากที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชสิ้นพระชนม์ในปลายเดือนกันยายน และครั้งที่สามในต้นเดือนธันวาคม โดยในการสด็จพระราชดำเนินครั้งที่สามนี้ ทอดพระเนตรการปรับปรุงสถานที่รับเสด็จดยุคฯ นั่นคือ พระราชวังพระนครคีรี บนเขามหาสวรรค์ ปรากฏในพระราชหัตถเลขาทรงมีถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ความว่า
“บ้านปืน เพ็ชรบุรี
วันที่ ๖ ธันวาคม ร.ศ.๑๒๘
เจ้าพระยายมราช
ได้รับหนังสือวันที่ ๕ การที่รีบทำในเวลาเสด็จไม่อยู่นั้นดี แต่มีความเสียใจที่จะบอกข่าวว่าปรินซวัลดิมาร์นั้นเลิก เพราะเหตุที่ปรินเซสมารีตาย กลับเพียงคอลัมดบ เมื่อได้รับดทรเลขอยู่ข้างจะเป้นที่เศร้าสลดใจเป็นอันมาก... แต่ถึงได้ข่าวดังนี้ไม่ได้หยุดหย่อนในการที่จะตระเตรียมทั้งปวง เพราะเหตุที่โยฮันอัลเบรชคงมาแน่ การเพ็ชรบุรีอยู่ข้างจะประดักประเดิดยิ่งกว่าในบางกอกมาก เพราะเป็นที่ซึ่งจัดรับฝรั่งขึ้นใหม่ ในที่ซึ่งไม่ได้สร้างไว้สำหรับเป็นฝรั่งเลย ...มีความเสียใจที่ต้องให้รื้อบรรดาสิ่งซึ่งทำไว้ทั้งหมดไม่มีเหลือเลย ตู้เก่าที่ไปเปิดออกก้ต้องให้กลับกั้นเข้าอย่างเดิม เลยเป็นไม่ได้ทำอะไรนั่งเขียนแผนที่จนค่ำก็กลับ บนเขาหนาวเต็มทีเป็นหวัดไป...
สยามินทร์”
นอกจากเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว ยังมีบันทึกคำบอกเล่าของบุคคลในเอกสารอื่นๆ ที่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการบรันซวิก อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในขณะนั้น ดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ปรากฏในลายพระหัตถ์มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า
“... เมื่อตอนปลาย รัชชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้หม่อมฉันซ่อมพระนครคิรีรับดุ๊กโยฮันอันเบรท ได้ซ่อมถึงพระที่นั่งเวไชยันต์วิเชียรปราสาทด้วย...”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังโปรดให้พระธิดาตามเสด็จไปในคราวนี้ ได้แก่หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์ใหญ่และหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล โดยหม่อมเจ้าจงจิตรถนอมได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า
“...เสด็จพ่อล่วงหน้าไปคอยรับเจ้าที่เมืองเพชรบุรี มีข้าพเจ้าแลหญิงพูนพิศมัย พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงจัดข้าหลวงส่งไปด้วย ๔ คน นายนากเป็นผู้ใหญ่ควบคุมไป เพื่อทำหน้าที่จัดห้องบรรทมดุ๊กแลดัสเชสส์ ส่วนพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรทรงดูแลอาหารฝรั่งเลี้ยงเจ้า ข้าพเจ้าต้องดูแลจัดดอกไม้โต๊ะ แลทำดอกไม้เป็นบุหงาถวายดัสเชสส์ทุกวันๆ ระหว่างที่อยู่เมืองเพชรบุรี ข้าพเจ้าได้อาศรัยคุณข้าหลวงของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ๔ คนช่วยในการจัดทำดอกไม้ ข้าพเจ้ามีช่างดอกๆไม้ไปด้วย ๒ คน ที่เคยอยู่เป็นข้าหลวงของสมเด็จพระปิตุจฉา คือนางนารถแลนางลูกตาล ต้องขึ้นไปอยู่บนเขาวังที่สันถาคาร สถาน ดุ๊กแลดัสเชสส์ประทับที่พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ การรับรองเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ต้องจัดตั้งโรงครัวบนเขาวังเวลาจะขึ้นลงทีต้องมีพวกเด็กชาคอยหามกันทุกๆ วัน ตอนนี้ข้าพเจ้าต้องพบกับดุ๊กแลดัสเชสส์ทุกวันเวลาเสยกลางคืนเสด็จพ่อทรงจัดสมุหเทศา เจ้าเมืองในมณฑลราชบุรีผลัดกันมาร่วมโต๊ะเสวยพร้อมกับดุ๊กแลดัสเชสส์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ได้ทรงจัดดอกไม้แบบโบราณ เช่น ระย้า ๒ ชั้น แลชั้นเดียวส่งจากกรุงเทพฯ ไปแขวนบนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์...”
พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) ขณะมีบรรดาศักดิ์ที่ พระยาราชพินิจจัย เลขานุการประจำองค์เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้หนึ่งที่ได้ตามเสด็จไปจัดการรับรองดยุคฯ ที่เมืองเพชรบุรี ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
“...โปรดเกล้าให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเตรียมการรับเสด็จ ซึ่งจะประพาสเมืองเพ็ชรบุรี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีรับสั่งให้จัดการขนเอาเครื่องเรือนออกไปตกแต่งพระที่นั่งเพ็ชรภูมิไพโรจน์บนพระนครคีรี เป็นที่สำหรับเจ้าพัก และจัดห้องสำหรับบริพารเจ้าพักที่ราชธรรมสภา ในงานนี้ได้ทำการติดต่อร่วมมือกับผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองเพ็ชรบุรีเรียบร้อยแล้ว ได้เข้ามารายงานให้เสนาบดีทรงทราบ แล้วตามเสด็จเสนาบดีล่วงหน้าออกไปคอยรับเจ้าซึ่งออกจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟ วันที่ ๓๑ มกราคม ร.ศ.๑๒๘ ประพาสเมืองเพ็ชรบุรี และประจำหน้าที่เลขานุการเสนาบดีรับใช้เสนาบดีที่บนพระนครคีรี จนวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ เจ้าเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟจากเมืองเพ็ชรบุรี...”
ยังมีบันทึกว่า ในคราวรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ตที่เมืองเพชรบุรีนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลข มีการวางสายโทรศัพท์ชั่วคราวจากพระราชวังบนเขามหาสวรรค์ ถึงบริเวณเชิงเขา เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับรองด้วย โดยมีนายฉัตร บุณยสุขานนท์ (ในเวลาต่อได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ พระอำนวยสัณหนิติ์) ผู้ทำหน้าที่แทนสารวัตรไปรษณีย์โทรเลขมณฑลราชบุรีและนครไชยศรี เป็นผู้อำนวยการ
ภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสลำดับที่ ๓๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ ขณะทรงดำรงพระยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นผู้อำนวยการรับเสด็จดยุคโยฮันอัลเบิร์ตและพระชายาในรัตนโกสินทรศก ๑๒๘
(จำนวนผู้เข้าชม 1155 ครั้ง)