...

มหามกุฏราชสันตติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

     มหามกุฏราชสันตติวงศ์ : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๖๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย (หม่อมเจ้าหญิงแฉ่) มีพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนี คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา (พระองค์เจ้ากรรณิกาแก้ว) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๐๖ เมื่อแรกประสูติพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ พร้อมคาถาพระราชทานพร

        ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๒๘ ต่อมาในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๓๐ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๑ ทรงเป็นนายพลตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เป็นอธิบดีกรมโยธาธิการ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๒ ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการพระองค์แรก ครั้นวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๓๕ เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง และเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๗ เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๓๙ เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ครั้นพุทธศักราช ๒๔๔๐ ได้บัญชาการกระทรวงพระคลังอยู่ชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๔๑ เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ

ในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๔๒ ถึง ๒๔๔๘ เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการครั้งที่สอง ระหว่างนี้ในพุทธศักราช ๒๔๔๔ เป็นนายพลโท ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง แล้วได้รับการเพิ่มพระเกียรติยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์”

     ในรัชกาลที่ ๖ พุทธศักราช ๒๔๕๗ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ฯ ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๖ เป็นนายพลเอก ราชองครักษ์พิเศษ และกรรมการสภาการคลัง ในรัชกาลนี้ ทรงมีผลงานทางด้านศิลปกรรมจำนวนมากขึ้นกว่ารัชกาลก่อน ด้วยเหตุที่ทรงออกจากราชการประจำแล้ว

ถึงรัชกาลที่ ๗ พุทธศักราช ๒๔๖๘ เป็นอภิรัฐมนตรี ในพุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้กำกับการพระราชวงศ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง (ชั่วคราว) และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๗๖ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ในรัชกาลนี้ ทรงมีลายพระหัตถ์กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเชษฐาซึ่งประทับที่ปีนัง สหพันธรัฐมาลายาของอังกฤษในขณะนั้น ซึ่งในเวลาต่อมา ลายพระหัตถ์ทั้งสองพระองค์ จะเป็นที่รู้จักในนาม “สาส์นสมเด็จ”

ถึงรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เลื่อนเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มหามกุฏพงศนฤบดินทร์ ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ อัฐเมนทรราชอัยยกา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธิวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัตน์ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร”

     สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๙๐ พระชันษา ๘๔ ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงต่อจากงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๙๓ เป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์

 

อ้างอิง

ศิลปากร, กรม. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.

พระประวัติและฝีพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 

๒๔๙๐. (หม่อมราชวงศโต จิตรพงศ พิมพ์สนองพระเดชพระคุณในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ.๒๔๙๓)

เรียบเรียง : ณัฐพล  ชัยมั่น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 14718 ครั้ง)