มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑ มกราคม ๒๔๓๕ วันพระราชสมภพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑ มกราคม ๒๔๓๕ วันพระราชสมภพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๓๕
พระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา ได้แก่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
ในพุทธศักราช ๒๔๔๖ ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณนรินทรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาต คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณพิจิตรพิสิษฐบุรุษย์ ชนุตมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร ถึงพุทธศักราช ๒๔๔๘ ไปทรงศึกษาวิชาชั้นต้นในประเทศอังกฤษ ก่อนจะไปทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้นปอตสดัม ประเทศเยอรมนี ระหว่างศึกษาได้รับพระราชทานยศ นายร้อยตรี แล้วต่อมาไปทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยชั้นสูงที่โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ แล้วทรงศึกษาวิชาทหารเรือที่ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก ระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๕๖ – ๒๔๕๗
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น พระบรมเชษฐาธิราช โปรดให้เสด็จกลับเข้ามายังราชอาณาจักร ทรงรับราชการในกรมเสนาธิการทหารเรือ กระทรวงทหารเรือ แล้วทรงย้ายไปรับราชการในกองอาจารย์นายรเอ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศ นายพันเอกทหารบก และนายนาวาเอกทหารเรือ เป็นราชองครักษ์พิเศษ แล้วจึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุข ต่อมาทรงรับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป กระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงเป็นอาจารย์สอนนิสิตเตรียมแพทย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทรงปรับปรุงและวางรากฐานการแพทย์ของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล ก่อนจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อจนจบวิชาแพทย์ได้รับเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในพุทธศักราช ๒๔๗๑ ครั้นเสด็จกลับมาสยาม เสด็จไปทรงงานในฐานะแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ในต้นปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ก่อนจะทรงพระประชวร และเสด็จกลับกรุงเทพ ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ พระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา เป็นต้นราชสกุล มหิดล
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ เป็นพระราชภราดาพระองค์หนึ่งที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงประจักษ์ในพระปรีชาญาณ และทรงรอบรู้ในกรณียกิจต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ได้มีพระราชดำรัสสั่งไว้แล้ว ในการที่จะเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบสามรอบ แต่ก็มาด่วนสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน ทรงพระราชดำริว่า อันคุณความดีไม่มีเวลาที่จะจืดจาง แม้สิ้นพระชนม์แล้วก็จะทรงสถาปนาให้สมพระราชประสงค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณเบญจพรศิริสวัสดิ ขัตติยวโรภโตสุชาต คุณสังกาศเกียรติประกฤษฏ์ ลักษณพิจิตรพิสิฐบุรุษ ชนุดมรัตนพัฒนศักดิ อัครวรราชนรินทรเชษฐาธิบดี กรมหลวงสงขลานครินทร์
ต่อมาในรัชกาลที่ ๘ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ครั้นในรัชกาลที่ ๙โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามพระอัฐิ เป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๓ และพระราชทานยศ จอมพลเรือ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๑
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่สืบสายจากพระบรมชนกนาถ
ภาพ : พันเอก(พิเศษ) จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ข้อมูล : ณัฐพล ชัยมั่น / วสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
อ้างอิง
กัลยาณิวัฒนา, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ. เจ้าฟ้าทหารเรือ. กรุงเทพฯ : วงจร, ๒๕๓๕.
ศิลปากร, กรม.จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่ง ศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๔๕.
________.ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๔ ข วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๑. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร.[ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2541/B/004/1.PDF
(จำนวนผู้เข้าชม 2798 ครั้ง)