...

มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้า

     มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระมหาธีรราชเจ้า

     พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 พระองค์มีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ คือ 

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ 

และพระอนุชา ๖ พระองค์ คือ 

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง

 สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

 สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย

 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แต่ยังมิได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียกว่า "ลูกโต" ส่วนในพระราชสำนักออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมโต"

     ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นารถราชวโรรส มหาสมมติขัตติยพิสุทธิ บรมมกุฏสุริยสันตติวงษ อดิสัยพงษวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัตติยราชกุมารกรมขุนเทพทวาราวดี

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยทรงศึกษาหลายแขนง ดังนี้ ทางทหารทรงสำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยการทหารแซนเฮิสต์แล้วเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัม ทางด้านพลเรือนทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้เป็นนายพลเอก ราชองครักษ์ ตำแหน่งจเรทัพบก และทรงบัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก

 เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ คืนนั้นได้มีประกาศภาษาไทยให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน และต่อมาจึงให้ออกพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ จึงรับบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน์อัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร และมีโรคเบาหวานแทรกซ้อน จนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที พระชนมพรรษา ๔๖ พรรษา แต่รัชกาลที่ ๗ มีพระราชประสงค์กำหนดวันสวรรคตของรัชกาลที่ ๖ เป็นวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน 

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่สืบสายจากพระบรมชนกนาถ

 

ข้อมูล : ณัฐพล ชัยมั่น / วสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

 

อ้างอิง 

นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, ๒๕๕๔.

ศิลปากร, กรม.จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่ง ศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๔๕.

________. เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๗.

________.ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.

จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๖. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระ สมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์ พระราชทานในงารลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ.๒๔๖๖)

(จำนวนผู้เข้าชม 2780 ครั้ง)


Messenger