ทศกาลตรุษจีน ตอนที่ ๒ จาก “เลี้ยงพระตรุษจีน” สู่ “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย”
เทศกาลตรุษจีน ตอนที่ ๒ จาก “เลี้ยงพระตรุษจีน” สู่ “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย”
การพระราชกุศลตรุษจีนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กลับไปใช้ธรรมเนียมอย่างรัชกาลที่ ๓ คือ เลี้ยงพระที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ๓ วัน จัดให้มีเรือขนมจีนนำมาถวายเลี้ยงพระ ที่ท่าราชวรดิฐ รวมถึงโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปปล่อยปลาทั้ง ๓ วัน ทำให้ “เกาเหลา” อาหารอย่างจีน ที่นำมาเลี้ยงครั้งรัชกาลที่ ๔ ได้หายไป จากการพระราชกุศลดังกล่าว แต่มีข้าราชการเชื้อสายจีน ประกอบอาหารอย่างจีนสำหรับเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการในงานนั้นแทน
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช ๒๔๐๘ มีการสร้างพระป้ายฉลองพระองค์ จารึกพระปรมาภิไธย ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อเซ่นไหว้บูชาตามแบบจีน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดแบบอย่างธรรมเนียมจีนในช่วงปลายพระชนมายุ ดังโปรดให้สร้างพระที่นั่งที่ประทับ และจัดสวนตามแบบจีน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช ๒๔๑๑ มีการสร้างพระป้าย จารึกพระปรมาภิไธย สำหรับเซ่นไหว้ตามอย่างจีนด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นตั้งเมื่อใด หากสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งมหิศรปราสาท
กระทั่งมีการสร้างพระราชวังบางปะอินในรัชกาลที่ ๕ กลุ่มข้าราชการ และพ่อค้าชาวจีนได้สร้างพระที่นั่งขึ้นหลังหนึ่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนทั้งหลัง เมื่อแล้วเสร็จพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ” ในครั้งนั้น โปรดให้มีการสร้าง “พระป้าย” ขึ้นประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งแห่งนี้ ดังมีพระราชปรารภว่า “...การแต้มป้ายเปนธรรมเนียมของชนจีนชาติ ซึ่งเปนผู้นับถือบรรพบุรุษย์เปนที่พึ่ง เพราะเขาถือว่าการที่บูชา เส้นสรวงบรรพบุรุษย์เปนข้อสำคัญ ที่จะแสดงให้ชนทั้งปวงเปนที่นับถือว่าเปนคนดี แลถือว่าเปนความเจริญแก่ตัวได้จริงด้วย...”
ทรงมีพระราชดำริว่า พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญได้สร้างที่สำหรับนมัสการ ตามอย่างลักษณะอาคารแบบจีน สมควรจะมีพระป้ายประดิษฐานไว้ จึงโปรดให้มีการ “แต้มพระป้าย” คือสร้างพระป้ายและ “แต้ม” หรือเจิม เพื่อสมมุติว่าได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณมาสถิตยังพระป้ายดังกล่าว ประกอบด้วยพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระป้ายกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ประกอบพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในวันที่ ๒๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พุทธศักราช ๒๔๓๓) แล้วอัญเชิญพระป้ายทั้งสอง นำมาประดิษฐานในพระที่นั่งเก๋ง ภายในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองพระป้าย มีทั้งพิธีพุทธ และพิธีตามแบบจีน และญวน มีการถวายเครื่องภัตตาหาร และเลี้ยงเครื่องเสวยตามแบบจีนตลอดงานรวมไปถึงมีการประกวดตั้งเครื่องโต๊ะแบบจีนด้วย ในระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ศกนั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นในพุทธศักราช ๒๔๔๑ โปรดให้สร้างพระที่นั่งที่ประทับ ตลอดจนตำหนักของพระมเหสี พระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดา และพระราชวงศ์บางพระองค์ในบริเวณดังกล่าว ถึงพุทธศักราช ๒๔๔๙ เมื่อพระที่นั่งอัมพรสถานแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ “พระป้าย” และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานไว้ ด้วยเหตุว่า
“...ในเวลาที่เสด็จมาประทับอยู่วังสวนดุสิตยังไม่มีสิ่งที่จะเปนที่ทรงนมัสการรลึกถึงพระเดชพระคุณ...” โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวังเชิญพระป้ายจากพระที่นั่งมหิศรปราสาทมาประดิษฐาน ณ ห้องพระพุทธนรสีห์ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พุทธศักราช ๒๔๔๙)
พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตมีลักษณะพิเศษ คือ ประกอบด้วยพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราชพระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับรูปพระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ และมีพระป้าย เป็นแผ่นไม้จำหลักลายปิดทองมีจารึกพระปรมาภิไธยภาษาจีน อยู่หลังพระบรมรูป มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระบรมรูปด้วย
จากหลักฐานข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เมื่อถึงรัชกาลที่ ๕ การพระราชกุศลตรุษจีน ที่ปฏิบัติสืบมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ได้มีพิธี “สังเวยพระป้าย” เข้ามาเพิ่มเติม อันเนื่องมาจากมีการสร้าง “พระป้าย” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาเมื่อมีการสร้างพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระป้ายสำหรับประดิษฐานไว้ ณ ที่นั้นด้วย สันนิษฐานว่าพระราชพิธีสังเวยพระป้าย จะเริ่มมีมาตั้งแต่คราวนั้น ขณะที่การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนนั้นในช่วงประมาณครึ่งหลังของรัชกาลที่ ๕ ไม่ปรากฏว่าได้กระทำอีก โดยครั้งสุดท้ายที่ปรากฏหลักฐานคือในรัตนโกสินทรศก ๑๑๔ มีในราชกิจจานุเบกษาความว่า
“...วันที่ ๑๑ ที่ ๑๒ แลที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ สามวันนี้ เปนสมัยแห่งตรุศจีน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงาน จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ วันละ ๒๐ รูป ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเช่นทุกปีมา...วันที่ ๑๒ แลที่ ๑๓ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธเสด็จออกทรงเลี้ยงพระสงฆ์ วันที่ ๑๒ สมเด็จพระวันรัตเปนประธานสงฆ์ ขุนนิพนธ์พจนาดถ์ อ่านประกาศเทวดา วันที่ ๑๓ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา เปนประธานสงฆ์นายช่วงเปรียญอ่านประกาศสังเวย ในการพระราชกุศลนี้ มีกัปิยาหารสำหรับการตรุศจีนบรรทุกโคต่างถวายพระสงฆ์ แลการปล่อยสัตวเช่นทุกปีมา...”
การพระราชพิธีสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มีกำหนดการสังเวยในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ ตามปฏิทินจีน ซึ่งก็คือวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่) เครื่องสังเวยพระป้ายจัดเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงินกระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษ เรียกตามภาษาจีนว่า กิมฮวยอั้งติ๋ว ผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง
เมื่อแรกเริ่มมีพระราชพิธีดังกล่าว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงจัดเครื่องสังเวยทูลเกล้าฯ ถวายมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ ครั้นเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงรับพระธุระ ทรงจัดเครื่องสังเวยทูลเกล้าฯ ถวายต่อมา ขณะที่เครื่องสังเวยพระป้ายที่พระราชวังบางปะอินแต่เดิม กรมท่าซ้ายจัดถวาย ต่อมาเป็นของหลวงจากสำนักพระราชวัง
ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่วังสระปทุม รับหน้าที่จัดเครื่องสังเวยทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระเดชพระคุณสืบมา การพระราชพิธีสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จฯ มาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ซึ่งในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันแต่เมื่อครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีสืบมาจนเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วโปรดให้มีพระราชพิธีดังกล่าวเช่นเดิม และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระราชวังบางปะอินด้วยอีกแห่งหนึ่ง
ผู้เขียน : วสันต์ ญาติพัฒ
ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
ภาพประกอบ : พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่ประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้ายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
อ้างอิง
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๓. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๗๙. (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๙)
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๓๓. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตีรณสาร, ๒๕๑๔.(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระ บรมราชานุญาตให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงลัย เทพาธิบดี (ลัย บุนนาค) ต.จ. ณ เมรุวัด ธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ ๑๔พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๔)
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๖.
ราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ ๔.กรุงเทพฯ :สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๗. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประกอบ หุตะสิงห์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗)
ศิลปากร, กรม. พระราชพิธีสังเวยพระป้าย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 2634 ครั้ง)