...

ผสมเทียมปลาแค้ครั้งแรก
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ผสมเทียมปลาแค้ครั้งแรก --
 ปลาแค้ หรือปลากดแค้ (Bagarius bagarius) เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 70 – 80 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 1 – 1.5 เมตร ในอดีตพบมากในแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีกระแสน้ำไหลเย็นอยู่ตลอดปี โดยเฉพาะในแม่น้ำโขง ซึ่งมักจะอาศัยเกาะแก่งหินใต้ผิวน้ำ หรือตามพื้นท้องน้ำเพื่อหาสัตว์น้ำอื่นๆ กินเป็นอาหาร ปลาแค้เป็นปลาที่คนนิยมบริโภคเนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี จึงมีการจับปลาแค้ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และทำให้จำนวนปลาแค้ลดลงจนอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการศึกษาเพื่อเพาะพันธุ์ปลาแค้ โดยสถานีประมงจังหวัดพะเยา ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ดังนี้
 ปี พ.ศ. 2524 นาวาโทสว่าง เจริญผล อธิบดีกรมประมงในขณะนั้น มอบหมายให้สถานีประมงจังหวัดพะเยาดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาแค้ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพาะพันธุ์ปลาบึกและปลาสำคัญชนิดอื่นๆ ในแม่น้ำโขง ในระยะแรกได้เริ่มทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาแค้เพื่อมาศึกษาและเพาะพันธุ์แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 คณะทำงานได้ซื้อพ่อแม่พันธุ์ปลาแค้จากชาวประมงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และได้ทำการผสมเทียม ณ ริมแม่น้ำโขง โดยฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองปลาจีนให้แก่แม่ปลาในอัตรา 0.7 โดส (ส่วนพ่อปลาไม่ต้องฉีดเนื่องจากมีน้ำเชื้อดี) ต่อมาอีก 8 ชั่วโมง ไข่ปลาสุกได้ที่ จึงรีดไข่จากแม่ปลามาผสมกับน้ำเชื้อจากพ่อปลา ไข่ปลาแค้นี้มีขนาดเท่ากับไข่ปลาดุก แต่เป็นไข่ประเภทครึ่งจมครึ่งลอย (Semi-buoyant egg) หลังจากผสมไข่แล้วจึงนำไข่ทั้งหมดกลับไปฟักไข่ที่สถานีประมงจังหวัดพะเยา โดยใช้กระเช้าฟักไข่แบบไข่ปลาจีน
 หลังจากฟักไข่ได้ 18 ชั่วโมง ไข่จึงเริ่มฟักออกเป็นตัวในน้ำอุณหภูมิประมาณ 27 – 28 องศาเซลเซียส ได้ลูกปลาแค้ประมาณ 30,000 ตัว นำลูกปลาแค้ไปอนุบาลในตู้กระจกและถังซีเมนต์กลม ใช้น้ำประปาที่พักไว้แล้ว 2 – 3 วัน และต้องคอยเปลี่ยนน้ำทุกวัน ในระยะแรกให้ลูกปลาแค้กินไรน้ำเป็นอาหาร ต่อมาให้ลูกน้ำผสมไรน้ำจนลูกปลามีอายุครบ 30 วัน จึงเริ่มหัดให้กินเนื้อปลาสดบดผสมกับอาหารลูกไก่ในอัตราส่วน 7 : 3 ในระยะนี้จะเหลือลูกปลารอดชีวิตมา 5,000 ตัว ซึ่งทางกองประมงน้ำจืดได้นำลูกปลาแค้จำนวน 4,600 ตัวไปแจกจ่ายตามสถานีประมงใกล้เคียงต่อไป
 การทดลองเพาะพันธุ์ปลาแค้ด้วยวิธีการผสมเทียมนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาองค์ความรู้เกี่ยวกับปลาแค้และการเพาะพันธุ์ปลาแค้มีน้อยมาก ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของสถานีประมงจังหวัดพะเยา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาชีวประวัติของปลาแค้ และแนวทางการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปลาแค้ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/13 เรื่อง การเพาะพันธุ์และผสมเทียมปลากดแค้ของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 16 ส.ค. 2526 ].
2. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/16 เรื่อง ความสำเร็จด้านการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 19 ธ.ค. 2529 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ









(จำนวนผู้เข้าชม 16 ครั้ง)


Messenger