...

อยากให้ย้าย หรือ อยากให้อยู่
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : “อยากให้ย้าย” หรือ “อยากให้อยู่” : ว่าด้วยเหตุผลของคนสองจังหวัด (ตอนที่ 1) --
 เมื่อเกือบร้อยปีก่อน พื้นที่จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบันเคยเป็นท้องที่ของสองจังหวัด คือ จังหวัดสุโขทัย ตั้งศาลาว่าการที่อำเภอสุโขทัยธานี และจังหวัดสวรรคโลก ตั้งศาลาว่าการที่อำเภอเมืองสวรรคโลก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการยุบรวมมณฑลและจังหวัดบางแห่ง โดยมีจังหวัดต่างๆ ที่ถูกยุบรวมตามประกาศนี้จำนวน 8 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกยุบรวมท้องที่เข้าไว้ในการปกครองของจังหวัดสวรรคโลก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป ผลจากประกาศนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ชาวสุโขทัย และพากันยี่นคำร้องขอให้ย้ายศาลากลางจังหวัดกลับมาที่สุโขทัยเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่างคำร้องฉบับหนึ่งในเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 - รัชกาลที่ 8 ดังนี้
.
 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หรือหลังจากยุบจังหวัดสุโขทัยไปแล้ว 3 เดือน ร้อยโทช้อย พรหมวิภา นายทหารนอกราชการ ได้ทำหนังสือมีใจความว่า ตนเคยรับราชการทหาร แต่ได้ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพที่ตำบลธานี อำเภอสุโขทัยธานี จังหวัดสวรรคโลก ทราบว่ามีราษฎรอำเภอสุโขทัยธานีจำนวนมากยื่นหนังสือร้องขอให้ที่ทำการจังหวัดสวรรคโลกย้ายมาตั้ง ณ ที่ทำการจังหวัดสุโขทัย (เก่า) ตนจึงขอเสนอความเห็นว่า ควรตั้งที่ทำการที่จังหวัดสุโขทัย (เก่า) โดยให้เหตุผลสรุปได้ดังนี้
 1. จำนวนพลเมืองในจังหวัดสุโขทัย (เก่า) มีมากกว่าจังหวัดสวรรคโลก ฉะนั้นเมื่อมีคนมาก ก็ย่อมต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราดูแลมาก และต้องให้การศึกษามาก จะส่งครูมาดูแลแค่ 3-4 คน โดยไม่มีผู้ใหญ่ตรวจตราดูแลไม่ได้
 2. จังหวัดสุโขทัย (เก่า) มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า และมีพื้นที่ราบทำนาได้มากกว่าสวรรคโลก เมื่อนาได้รับการบำรุงให้อุดมสมบูรณ์แล้ว จำนวนพลเมืองก็จะมากขึ้นจนตั้งที่ทำการจังหวัดได้
 3. เงินรายได้ของจังหวัดสุโขทัย (เก่า) มีมากกว่าสวรรคโลก สามารถบำรุงให้เกิดความเจริญได้เร็วขึ้น
 4. จำนวนคดีความในจังหวัดสุโขทัย (เก่า) มีมากกว่าสวรรคโลก รัฐบาลจึงควรเร่งแก้ไขด้วยการส่งข้าราชการมาช่วยดูแลกวดขันพลเมือง
 5. ที่ทำการจังหวัดสุโขทัย (เก่า) ตั้งอยู่แทบใจกลางเมือง จะทำให้พลเมืองได้รับความสะดวกในกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ
 6. สถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย (เก่า) มีความกว้างขวางและงดงามกว่า และตั้งอยู่เป็นระเบียบไม่ปะปนกับบ้านเรือนของราษฎรเหมือนที่สวรรคโลก จึงสะดวกแก่การระวังรักษาและปกครองดูแล
 7. บ้านพักของข้าราชการจังหวัดสุโขทัย (เก่า) มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เงินก่อสร้างเพิ่มเติมโดยเปล่าประโยชน์
.
 ทั้งหมดนี้คือเหตุผลในมุมของชาวสุโขทัย ที่อยากให้ย้ายที่ทำการจังหวัดกลับมาอยู่ที่สุโขทัย เพื่อการพัฒนาจังหวัดให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น และเมื่อความสะดวกของราษฎรในการติดต่อราชการ แต่กว่าที่ชาวสุโขทัยจะสมหวังได้ที่ทำการจังหวัดตนเองกลับมา ต้องรออีกเกือบ 7 ปี และต้องแลกกับการหายไปของ “จังหวัดสวรรคโลก” ซึ่งในตอนหน้าจะนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งของชาวสวรรคโลกที่ไม่อยากให้ย้ายที่ทำการจังหวัดไปจากถิ่นของตน
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 – รัชกาลที่ 8 ร.7-ร.8.2 ช/822 เรื่อง นายร้อยโทช้อย พรหมวิภา ขอให้ที่ทำการจังหวัดสวรรคโลกย้ายไปตั้งที่อำเภอสุโขทัยธานี [ 17 ก.ค. – 16 ก.ย. 2475 ].
2. “ประกาศ เรื่องยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด.” (2474) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48, ตอน ก (21 กุมภาพันธ์): 576-578.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ



(จำนวนผู้เข้าชม 51 ครั้ง)