...

ปี้ในบ่อนเบี้ยหัวเมือง
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ปี้ในบ่อนเบี้ยหัวเมือง --
 บ่อนเบี้ย คือสถานที่สำหรับเล่นการพนันชนิดหนึ่งที่เรียกว่าถั่วโป หรือกำถั่ว  สันนิษฐานว่าเริ่มเกิดขึ้นในชุมชนที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก เนื่องจากเป็นการพนันที่ชาวจีนในอดีตนิยมเล่นกัน และมีการเล่นกันมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว การเล่นถั่วโปนั้นสามารถเล่นได้เฉพาะผู้ที่ทางการอนุญาตแล้วเท่านั้น โดยแต่เดิมมีเฉพาะชาวจีนที่ได้รับอนุญาตให้เล่นถั่วโป ต่อมาจึงอนุญาตให้คนไทยเล่นได้ โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องเสียเงินเข้าท้องพระคลัง เรียกว่า “อากรบ่อนเบี้ย”
 ในสมัยรัชกาลที่ 2 รัฐมีรายได้จากอากรบ่อนเบี้ยมากขึ้น จึงมีการกำหนดพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างๆ ให้เป็นแขวงสำหรับทำอากร โดยมีนายอากรบ่อนเบี้ยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางการให้ผูกขาดการเก็บอากรบ่อนเบี้ยในแต่ละแขวงหรือหัวเมือง นายอากรบ่อนเบี้ยนี้จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนพัฒนสมบัติ หรือขุนอื่นๆ ที่ขึ้นต้นว่า “พัฒน-” ประชาชนโดยทั่วไปจึงเรียกนายอากรว่า“ขุนพัฒน์” นอกจากการเปิดบ่อนและรับผูกขาดอากรบ่อนเบี้ยแล้ว นายอากรบ่อนเบี้ยยังได้ผลิตปี้ไว้สำหรับใช้แทนคะแนนสำหรับเล่นเบี้ยในบ่อน ปี้ในโรงบ่อนมีทั้งที่ทำจากกระเบื้องและโลหะ ซึ่งปี้ของนายอากรแต่ละคนจะมีลวดลายแตกต่างกัน
 การใช้ปี้นั้น เมื่อแรกยังคงมีการใช้กันเฉพาะในโรงบ่อน แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดสภาวะเงินปลีกในท้องตลาดขาดแคลน ประชาชนจึงนำปี้ในโรงบ่อนมาใช้จ่ายซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวันแทนเงินปลีก ภายหลังเมื่อทางการสั่งผลิตเหรียญกษาปณ์ทองแดงมาจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินปลีกขาดแคลนในปี พ.ศ. 2418 แล้ว ปัญหาเงินปลีกขาดแคลนจึงสงบลง แต่การใช้จ่ายปี้นอกโรงบ่อนยังคงมีอยู่ต่อมา จนกรมสรรพากรต้องออกประกาศข้อบังคับสำหรับนายอากรบ่อนเบี้ย ลงวันที่ 1 ตุลาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) โดยมีข้อหนึ่งระบุว่า ห้ามมิให้นายอากรบ่อนเบี้ยนำปี้มาให้นักพนันใช้ทั้งในและนอกบ่อน รวมถึงห้ามใช้ปี้ซื้อขายสินค้าต่างๆ ซึ่งแม้ว่าทางการจะมีการออกประกาศมาแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีการใช้ปี้โรงบ่อนอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศอยู่ ดังตัวอย่างจากเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรื่อง บ่อนเบี้ยมณฑลฝ่ายเหนือ ความดังนี้
 เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) ขุนศรีสมบัติ เจ้าพนักงานกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้รายงานว่า ขุนพัฒน์เจ้าของบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองต่างๆ ได้แก่เมืองชัยนาท เมืองสวรรคโลก เมืองตาก และเมืองกำแพงเพชรได้ใช้ปี้แทนเงินแพร่หลายออกไป ขุนศรีสมบัติได้รวบรวมปี้ตามหัวเมืองในชนิดราคาต่างๆ ได้จำนวน 27 อัน ซึ่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ จึงทรงขอให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทำการสอบสวนว่า ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองปล่อยปะละเลยให้เกิดการกระทำผิดหรือไม่
 ในเวลาต่อมา กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 5 มกราคม ร.ศ. 111 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2436) กราบทูลกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ความว่า ได้ทรงไต่สวนแล้วพบว่า นายอากรบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองนั้นใช้ปี้จริง แต่เป็นการใช้แทนเค้า (หมายถึงวัตถุที่ใช้แทนตัวเงิน – ผู้เขียน) ในบ่อน เนื่องจากการใช้เงินปลีกทองแดงแทนเค้านั้น เวลาเล่นเบี้ยนายอากรจะทำการเกี่ยวขอหัวเบี้ยไม่ค่อยสะดวก เพราะเงินปลีกเป็นเหรียญทองแดงที่มีลักษณะแบน การใช้ปี้จะเกี่ยวได้สะดวกกว่า ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาเลิกเล่นเบี้ยแล้วก็ให้ผู้เล่นนำปี้มาแลกคืนเป็นเงินปลีกกลับไป ไม่ได้เป็นการตั้งใจใช้ปี้ในการใช้สอยแทนเงินปลีกตามท้องตลาดทั่วไปโดยตรง พระองค์จึงทรงมีพระดำริว่าไม่ควรจะให้เป็นความผิดหนักหนานัก และได้รับสั่งให้เก็บปี้เข้าถุงประทับตรารวมไว้ให้หมด แล้วนำเงินเฟื้องเงินสลึงติดขี้ผึ้งมาใช้แทนปี้ ส่วนตัวผู้ว่าราชการเมืองที่ปล่อยให้นายอากรใช้ปี้นั้น นับว่ามีความผิด โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะตัดสินโทษเทียบตามที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ตัดสินโทษของนายอากรต่อไป ซึ่งต่อมากรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ทรงมีพระดำริว่า กรณีนายอากรบ่อนเบี้ยควรกำหนดภาคทัณฑ์ไว้ครั้งหนึ่งก่อน ต่อไปอย่าคิดใช้ปี้อีก ส่วนผู้ว่าราชการเมืองก็ควรภาคทัณฑ์โทษไว้ให้เอาใจใส่ตรวจตราการกระทำผิดกฎหมายมากกว่านี้เช่นกัน ส่วนเรื่องความลำบากของนายอากรในการเกี่ยวขอหัวเบี้ยนั้น ทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจะจัดปี้หลวงจำหน่ายให้นายอากรนำไปใช้เป็นเค้าในปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ต่อไป
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.5 ค 14.1 ค/2 เรื่อง บ่อนเบี้ยมณฑลฝ่ายเหนือ. [6 พ.ย. – 25 ม.ค. 111].
2. “ข้อบังคับสำหรับนายอากรบ่อนเบี้ย.” (ร.ศ. 110). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 8, ตอนที่ 40 (3 มกราคม): 364-368.
3. เฉลิม ยงบุญเกิด. (2514). ปี้โรงบ่อน. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสันต์ รัศมิทัต 1 พฤศจิกายน 2514).
4. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2463). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17 ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงานศพนางยิ้ม มารดาคุณหญิงอินทรมนตรี ปีวอก พ.ศ. 2463).
5. นวรัตน์ เลขะกุล. (2543). เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงก์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สารคดี.
6. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน. (2563). ปี้ เบี้ยบ่อน. เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565. เข้าถึงได้จาก  https://www.facebook.com/.../pfbid02csKoR9hMnZAbR5j2qUCMW...
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ





















(จำนวนผู้เข้าชม 1213 ครั้ง)


Messenger