...

วีรกรรม “หมอเมืองกรุง” กับการปลูกฝีที่เมืองน่าน
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ: วีรกรรม “หมอเมืองกรุง” กับการปลูกฝีที่เมืองน่าน --
 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ ถือเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อกันทางลมหายใจ จึงสามารถระบาดไปได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ประกอบกับยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แม้ต่อมาจะเริ่มมีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันมากขึ้น แต่ในหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลยังคงเข้าไม่ถึงการรักษาแบบใหม่นี้ จึงต้องเผชิญกับภัยร้ายจากไข้ทรพิษอยู่เสมอ แต่ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุ ทำให้เราได้เห็นบทบาทของหมอคนหนึ่ง ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังดินแดนที่ห่างไกลในภาคเหนือด้วยความตั้งใจที่จะช่วยให้โรคร้ายนี้หมดไป
 วันที่ 7 เมษายน ร.ศ. 113  (พ.ศ. 2437) พระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงประจำรักษาราชการนครเมืองน่าน ได้มีใบบอกกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นว่า ในเขตแขวงนครเมืองน่าน เมื่อเกิดไข้ทรพิษขึ้น มักจะทำให้เกิดอันตรายต่อราษฎรเป็นจำนวนมาก จนเมื่อเดือนมกราคม ร.ศ. 112 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2437) ที่ผ่านมา ได้มีหมอจากกรุงเทพฯ คนหนึ่งชื่อหมอสุด มาประกอบกิจการรับปลูกฝีในนครเมืองน่าน คิดค่ารักษาขั้นต่ำเพียงคนละ 32 อัฐ แต่ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากเจ้านาย ข้าราชการและราษฎรมากนัก
 ต่อมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 112 พระพรหมสุรินทร์ได้ไปตรวจราชการทางเมืองเชียงของ ได้ทราบว่าที่เมืองไชยพรหม (อยู่ในเขตอำเภอท่าวังผาในปัจจุบัน) มีการระบาดของไข้ทรพิษ ราษฎรได้รับความลำบากจนถึงแก่ชีวิตไปหลายคน จึงว่าจ้างให้หมอสุดไปทำการปลูกฝีให้ราษฎร โดยท้าวพระยากรมการและราษฎรในเมืองที่ให้ความไว้วางใจ ได้นำบุตรหลานมาให้หมอสุดปลูกฝีจำนวน 217 คน หมอสุดทำการอยู่ที่เมืองไชยพรหม 24 วัน จึงได้รับอนุญาตให้กลับลงมาที่นครเมืองน่าน เมื่อสถานการณ์ไข้ทรพิษเสื่อมคลายลง พระพรหมสุรินทร์ได้นำผลการปลูกฝีของหมอสุดไปปรึกษากับเจ้าราชวงษ์ ผู้รักษาราชการนครเมืองน่าน และท้าวพระยานครเมืองน่าน จึงตกลงกันว่าจะจ่ายค่าบำเหน็จให้หมอสุดเป็นเงิน 100 รูเปีย
 ทางด้านของหมอสุดเองก็ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับการปลูกฝีที่เมืองไชยพรหม ซึ่งรายงานฉบับนี้ทำให้เราทราบถึงความยากลำบากในการรักษาโรคระบาดในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีใครรู้จักวิทยาการทางแพทย์สมัยใหม่มาก่อน เนื่องจากยังมีราษฎรส่วนหนึ่งที่ไม่เชื่อถือ และไม่ยอมมาปลูกฝีด้วยหลายสาเหตุ เช่น เชื่อว่าเมื่อปลูกฝีแล้วหากเกิดไข้ทรพิษขึ้นอีกจะล้มตายมากกว่าไม่ปลูกฝี หรือเชื่อว่าหากปลูกฝีแล้ว เจ้านายเมืองน่านจะให้คนไปเก็บเงินจากคนที่ได้รับการปลูกฝี เป็นต้น
 เป็นที่น่าเสียดายว่า เรายังไม่พบข้อมูลว่าหมอสุดผู้นี้เป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และใช้ชีวิตต่อมาอย่างไรหลังจากการปลูกฝีครั้งนี้ ซึ่งคงต้องสืบค้นจากเอกสารอื่นๆ ต่อไป แต่อย่างน้อยเราขอชื่นชมในวีรกรรมของหมอสุด ที่ยอมเดินทางจากเมืองหลวงไปสู่ดินแดนที่ห่างไกล และอุทิศตนเพื่อการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่โรคระบาดที่เสี่ยงอันตรายแต่เพียงผู้เดียว แม้จะต้องเจออุปสรรคใดๆ ก็ตาม
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ. 24/15 เรื่อง ปลูกไข้ทรพิษแขวงนครน่าน [ร.ศ. 113]
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ














(จำนวนผู้เข้าชม 376 ครั้ง)


Messenger