พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ ตอนที่ ๒
งานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้แพร่ขยายออกไปทั่วพระราชอาณาจักร มีศูนย์ฝึกงานใหญ่หลายแห่ง เช่น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่บ้านกุดนาขาม อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ราษฎรได้รับประโยชน์จากโครงการของมูลนิธิอย่างมาก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง “กองศิลปาชีพ” ขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เป็นหน่วยงานรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
เมื่อผลงานของสมาชิกมูลนิธิเพิ่มมากขึ้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาตลาดโดยการจำหน่ายในโอกาสสำคัญ ณ “ร้านจิตรลดา” ซึ่งเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าศิลปาชีพหลายสาขา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “ศิลป์แผ่นดิน” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมผลงาน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงนำงานชิ้นเอกไปเผยแพร่ให้นานาประเทศได้รู้จักฝีมือของชาวไทยด้วยพระองค์เองหลายครั้ง ยังผลให้ชาวต่างประเทศประจักษ์ในคุณค่า ความงาม และความประณีตของศิลปหัตถกรรมไทย ต่างชื่นชมฝีมือสร้างสรรค์งานศิลปะของชาวไทย นับว่างานศิลปาชีพได้สร้างรายได้ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตราษฎรในชนบทได้เป็นอย่างดี
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ รัฐบาลยกฐานะ “โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา” พระราชวังดุสิต ขึ้นเป็น “สถาบันสิริกิติ์” ด้วยตระหนักในศักยภาพที่สร้างสรรค์งานศิลปะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาติอย่างยั่งยืนหลายมิติ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีมีมติน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” หมายความว่า “ศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ” เฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏไว้คู่กับ “อัครศิลปิน” ซึ่งหมายความว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยตระหนักว่าทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมแก่ราษฎร สนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผดุงความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ บำรุงงานช่าง ซึ่งเป็นศิลป์แผ่นดินให้ธำรงอยู่คู่ชาติไทย
อ้างอิง :
(๑) คณะกรรมการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕. จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕. ปทุมธานี : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, ๒๕๕๘.
(๒) คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙. กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๖๑.
(๓) คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.
ผู้สนใจสามารถสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุเพิ่มเติมได้ที่
หรือสนใจสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ที่
(จำนวนผู้เข้าชม 741 ครั้ง)