...

การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๓
การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๓
เงินเจียง
          เงินตราที่มีการผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในดินแดนล้านนาในอดีต มีหลายชนิดมีชื่อเรียกต่างกันไปตามรูปร่างและวัสดุที่ใช้ผลิต นอกจากเงินท๊อกที่เคยกล่าวถึงไปแล้วยังมีเงินเจียง ซึ่งเป็นเงินตราที่ผลิตจากเงินบริสุทธิ์ ลักษณะคล้ายเกือกม้าสองวงที่มีปลายต่อกัน สามารถหักแยกออกจากกันได้เมื่อต้องการลดค่าน้ำหนักของเงินออกครึ่งหนึ่ง ที่ขาทั้งสองข้างประทับตราของผู้มีอำนาจผลิตเงินตรา ประกอบด้วย ตราจักรประจำเมือง ชื่อเมืองที่ผลิต และเลขบอกพิกัดราคา โดยตัวอักษรที่ตอกประทับลงบนเงินเจียงนั้นใช้อักษรสุโขทัย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในสมัยของพญากือนาเนื่องจากมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาพร้อมกับการนำตัวอักษรสุโขทัยมาใช้ในล้านนา แต่ต่อมาในสมัยหลังใช้อักษรฝักขามซึ่งใช้กันแพร่หลายในล้านนาประทับลงบนเงินเจียงแทน
          สำหรับชื่อเมืองที่ปรากฏบนเงินเจียงนั้น พบว่ามีมากกว่า ๖๐ เมือง เช่น แสน(เชียงแสน) หม (เชียงใหม่) กก หาง สบฝางหรือฝาง นาน (น่าน) คอนหรือดอน (ลำปาง) แพร (แพร่) เป็นต้น เงินเจียงที่พบมากเป็นเงินเจียงจากเมืองที่มีขนาดใหญ่มีการค้าขายกับต่างถิ่นมาก เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน
เอกสารอ้างอิง
เงินตราล้านนา : นวรัตน์ เลขะกุล/ธนาคารแห่งประเทศไทย นพบุรีการพิมพ์ เชียงใหม่, ๒๕๕๕
เงินตราล้านนาและผ้าไท : ธนาคารแห่งประเทศไทย อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๓
เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ : นวรัตน์ เลขะกุล สนพ.สารคดี, ๒๕๔๗
เงินเจียง เป็นเงินตราที่ผลิตจากเงินบริสุทธิ์ ลักษณะคล้ายเกือกม้าสองวงที่มีปลายต่อกัน สามารถหักแยกออกจากกันได้เมื่อต้องการลดค่าน้ำหนักของเงินออกครึ่งหนึ่ง
สำหรับชื่อเมืองที่ปรากฏบนเงินเจียงนั้น พบว่ามีมากกว่า ๖๐ เมือง เช่น แสน(เชียงแสน) หม (เชียงใหม่) กก หาง สบฝางหรือฝาง นาน (น่าน) คอนหรือดอน (ลำปาง) แพร (แพร่) เป็นต้น เงินเจียงที่พบมากเป็นเงินเจียงจากเมืองที่มีขนาดใหญ่มีการค้าขายกับต่างถิ่นมาก เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน
ที่ขาทั้งสองข้างของเงินเจียงประทับตราของผู้มีอำนาจผลิตเงินตรา ประกอบด้วย ตราจักรประจำเมือง ชื่อเมืองที่ผลิต และเลขบอกพิกัดราคา โดยตัวอักษรที่ตอกประทับลงบนเงินเจียงนั้นใช้อักษรสุโขทัย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในสมัยของพญากือนาเนื่องจากมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาพร้อมกับการนำตัวอักษรสุโขทัยมาใช้ในล้านนา แต่ต่อมาในสมัยหลังใช้อักษรฝักขามซึ่งใช้กันแพร่หลายในล้านนาประทับลงบนเงินเจียงแทน


.

(จำนวนผู้เข้าชม 1697 ครั้ง)