พระปรางค์จำลอง

         พระปรางค์จำลอง

         ลักษณะ : พระปรางค์จำลอง ลักษณะเนื้อแกร่ง ผิวสีส้มอมเหลือง ไม่เคลือบ สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี (กรมศิลปากร, 2552, 126) รูปแบบของโบราณวัตถุชิ้นนี้สามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับรูปแบบของเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยนิยมย้อนกลับไปใช้ลักษณะบางประการของศิลปะอยุธยาตอนต้น ทั้งนี้ พระปรางค์จำลองชิ้นนี้มีรูปแบบส่วนเรือนธาตุเช่นเดียวกับกลุ่มเจดีย์ทรงปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่มักทำเป็นย่อมุม โดยที่มีรูปแบบที่มุมทุกมุมมีขนาดเท่ากันหมด และมีจำนวนมุมมากขึ้นกว่าสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งพระปรางค์ชิ้นนี้ก็มีเรือนธาตุอยู่ในผังย่อมุมไม้ยี่สิบ ตัวเรือนธาตุเตี้ย ผนังเรือนธาตุสอบเข้าหากันเป็นเอกลักษณ์ของสมัยอยุธยาตอนปลาย เรือนธาตุประดับจระนำซุ้มทั้งสี่ด้าน มีลักษณะเป็นซุ้มเรือนแก้วอย่างอยุธยา ประดับลวดลายบริเวณตำแหน่งลายกรุยเชิงด้วยลายกระจังรูปใบโพธิ์กลับหัวลงอย่างอยุธยาปลาย

         ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนกันในระบบคอดล่างผายบนซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นระเบียบที่นิยมในเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยาตอนปลาย เรือนชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น โดยไม่มีช่องวิมานและซุ้มวิมาน ขณะที่บรรพแถลงเริ่มเล็กลงเป็นแผ่น (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2560, 561 – 564)

         ข้อสังเกตประการหนึ่งคือพระปรางค์จำลองนี้เริ่มจากส่วนเรือนธาตุขึ้นไปจนถึงส่วนยอด อาจสันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจมีส่วนฐานรองรับตัวเรือนธาตุที่สามารถถอดประกอบกันก็เป็นได้ เชื่อว่าคติในการสร้างพระปรางค์จำลองนี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

         ขนาด : สูง 41 เซนติเมตร

         ชนิด : ดินเผา

         อายุ/สมัย : อยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 22 – 23

         ประวัติ/ตำนาน : พบจากบริเวณวัดเชิงท่า (ร้าง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2506

 

แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=53013ท

 

ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th

(จำนวนผู้เข้าชม 23 ครั้ง)

Messenger