ธงจุฑาธุชธิปไตย แรกมีธงชัยเฉลิมพล
ธงจุฑาธุชธิปไตย แรกมีธงชัยเฉลิมพล
การใช้ธงประจำกองทัพในอดีตนั้นไม่ปรากฎรูปแบบที่ชัดเจน โดยในสมัยรัชกาลที่ ๓ คราวสยามทำศึกกับญวนพบว่ามีการใช้ธงรูปหนุมานและสุครีพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทาน “ธงมหามงกุฎ” สำหรับประจำกองทหารเกียรติยศ โดยกำหนดให้ใช้เป็นธงประจำพระองค์ตามธรรมเนียมยุโรป พร้อมกับเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์ประทับอยู่ภายในพระนคร ส่วน “ธงไอยราพต” ใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์มิได้ประทับอยู่ในพระนคร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ปรากฎหลักฐานการใช้ธงประจำกองทัพทหารในสงครามปราบฮ่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ด้วยเหตุว่ายังไม่มีธงประจำกองทัพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาธงตราแผ่นดินมาพระราชทานให้เป็นเกียรติยศ พร้อมกับบรรจุพระเกศาในยอดธงสำหรับแทนพระองค์ด้วย
โดยมีรูปแบบเป็นธงพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นตราอาร์มแผ่นดินปักด้วยดิ้นไหมและทอง ประกอบด้วยสัญลักษณ์จักรและตรีไขว้ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พร้อมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตรงกลางเป็นโล่มีรูปช้างไอยราพต ช้างเผือก และกริชไขว้กัน แสดงขอบเขตอาณาจักรสยาม ด้านข้างมีแท่นบุษบกมีคชสีห์และราชสีห์ประคองเครื่องสูง ๗ ชั้น ล้อมรอบด้้วยพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และสายสร้อยจุุลจอมเกล้าพร้้อมดวงตรา มีแถบแพรจารึกคาถา “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคีวุฑฺฒิสาธิกา” รอบธงมีลายจักร ซึ่งได้สั่งมาจากประเทศออสเตรีย ทำจากแพรลูกฟูกอย่างธงสำหรับกองทัพในยุโรป ถือเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพผืนแรกของสยามอย่างเป็นทางการ
ในประวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค ๑ ระบุว่า “เมื่อวันอาทิตย์แรม ๙ ค่ำเดือน ๑๑ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญนี้ให้แก่กองทัพ เป็นที่หมายความไว้พระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์สุจริต และความกล้าหาญของนายทหารและพลทหารทั้งปวงที่ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในบัดนี้ และต่อไปภายหน้า ...จงรู้จักเกียรติยศและอำนาจของธงชัยอันวิเศษสำคัญเป็นที่เฉลิมกองทัพนี้ ให้ถูกต้องตามพระบรมราชประสงค์ ...ให้คล้ายคลึงดุจชนชาติชาวยุโรป อันนับถือและตั้งใจรักษาธงชัยยิ่งกว่าชีวิต ตามแบบกฎหมายสำหรับทัพของชาวอารยประเทศ” เมื่อได้ชัยชนะในสงครามปราบฮ่อ จึงพระราชทานนามธงนี้ว่า “ธงจุฑาธุชธิปไตย”
ธงจุฑาธุชธิปไตยนี้ เดิมทีคงมีการใช้ธงประจำพระองค์ตามธรรมเนียมยุโรป เช่นเดียวกับธงมหามงกุฎในสมัยรัชกาลที่ ๔ กระทั่งได้นำไปใช้สำหรับแทนพระองค์และธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพในสงครามปราบฮ่อ ด้วยเหตุว่ายังไม่มีธงประจำกองทัพ
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า ในอดีตธงที่ใช้ในราชการต่างๆ ยังหาแบบอย่างที่แน่นอนไม่ได้ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งกองข้าหลวงให้ตรวจแบบอย่างที่สมควร และตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) ซึ่งได้มีการกำหนดรูปแบบของธงชัยเฉลิมพลขึ้นใหม่ และเพิ่มระเบียบสำหรับการใช้ธงจุฑาธุชธิปไตย ความว่า “...เปนราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่าทหารกรมต่างๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จพระราชดำเนินในกองนั้น ต้องใช้ธงนี้เปนที่หมายสำคัญแทนพระองค์ ฤาเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จ ฤาเจ้านายต่างประเทศ ให้เปนเกียรติยศเท่านั้น”
คำอธิบายภาพถ่าย : ท่านแม่ทัพและเจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบาง ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าสักกรินทรฤทธิ์ เจ้านครหลวงพระบาง เมื่อไปปราบฮ่อ กลับลงมาถึงเมืองซ่อน จึงได้นำธงชัยเฉลิมพล (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธงจุฑาธุชธิปไตย) มาปักไว้เป็นที่ระลึก
ธงจุฑาธุชธิปไตยนี้ จากการตรวจสอบประวัติ สันนิษฐานได้ว่าอาจรับมาจากพิพิธภัณฑ์ทหารบก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปทุมธานี
อ้างอิง
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔)
สุรศักดิ์มนตรี (เจิม), จอมพล มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยา. “ประวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค ๑”. [ม.ป.ท.]: ม.ป.พ.; ๒๔๗๖.
วันดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, พ.อ.หญิง. “ธงชัยเฉลิมพลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” ในเสนาธิการศึกษา ๗๕, ๑ (มกราคม-เมษายน) ๒๕๕๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 449 ครั้ง)