พระธาตุเชิงชุมจำลอง
พระธาตุเชิงชุมจำลอง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
พระธาตุเชิงชุมจำลองนี้ หล่อด้วยเงินประดับฉัตรทองคำ มีจารึกที่ฐานพระธาตุเชิงชุมจำลองทั้ง ๔ ด้าน ด้วยอักษรไทน้อย อักษรธรรมอีสาน อักษรไทย และอักษรขอมไทย มีเนื้อความเดียวกันความว่า “รูปธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร จำลอง เมื่อ พ,ศ,๒๔๖๙” โดยคณะกรมการจังหวัดสกลนคร ถวายเป็นที่ระลึกในคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จตรวจราชการจังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙
จัดแสดงภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในนิทรรศพิเศษการเอกสารล้ำค่าจารึกสยาม เนื่องในสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ - ว่าด้วย “จารจารึกบันทึกสยาม” : ภาพรัฐจารีตถึงรัฐสมัยใหม่ก่อนปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕
อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) เป็นศาสนานครนิทานซึ่งพระอรหันต์แปลไว้ เริ่มต้นกล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิว่า มีกษัตริย์ผู้รักษาธรรม พร้อมด้วยผู้คนนับถือพระรัตนตรัย และเป็นสถานที่อยู่ของเหล่านาคทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา จึงมีพุทธพยากรณ์ว่าพญาศรีโคตรบูรณ์จะไปเกิดเป็นพระยาสุมิตรธรรมได้ก่อตั้งอุรังคธาตุขึ้น ทั้งนี้ยังแสดงให้เห็นคติการนับถือรอยพระพุทธบาทและสถานที่สำคัญในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย
พระธาตุเชิงชุมนั้น นับเป็นสถานที่สำคัญที่มีการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ความว่า “ ...เราจักไปชุมรอยบาทที่แคมหนองหานหลวงที่นั้นก่อน และในหนองหานหลวงนี้มีพระยาองค์หนึ่ง มีพระนามว่าพระยาสุวรรณภิงคาร พระยาองค์นี้มีกระโจมหัวคำ และสังวาลย์คำ น้ำเต้าคำใหญ่ เสวยราชสมบัติอยู่ณเมืองนี้...”
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ได้ประทับรอยพระบาทและกระทำปาฏิหาริย์ต่อพระพักตร์พระยาสุวรรณภิงคาร ให้บังเกิดแก้วออกมาจากรอยพระบาทนั้น ทั้งนี้พระพุทธเจ้าได้อธิบายลักษณะของรอยพระบาทและมีพุทธพยากรณ์ไว้ ดังนี้
“รอยพระบาทพระกกุสันธ ยาวสามวากว้างหนึ่งวา รอยพระบาทพระโกนาคมน และพระกัสสป ยาวและกว้างโดยลำดับ รอยตถาคตยาวหนึ่งวาสองศอก สั้นกว่าทุกพระองค์ พระอริยเมตไตรยที่จักมาภายหน้านั้น จักได้เหยียบทับลงไปณะที่นั้น
...พระยาสุวรรณภิงคารพร้อมด้วยพระราชเทวี ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาพระปาทลักษณ์และอปหาริยธรรม อันพระศาสดาตรัสเทศนาดังนั้น ก็ทรงปีติปราโมทย์ยิ่งนัก แล้วทรงสร้างอุโมงด้วยหินปิดรอยพระพุทธบาทพร้อมทั้งมงกุฎ เหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่าพระธาตุเชิงชุม มาเท่ากาลทุกวันนี้”
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระมหากัสสปได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าอก (อุรังคธาตุ) มาประดิษฐาน ณ ภูกำพร้า (ปัจจุบันคือพระธาตุพนม) พระยาสุวรรณภิงคารก็ได้นำหินมุกมาก่ออุโมงค์ประดิษฐานพระอุรังคธาตุด้วย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนา
พระธาตุเชิงชุมนี้ นับเป็น “พระธาตุชุมนุมรอยพระบาท” โดยคำว่า “เชิง” หมายถึง เบื้องล่าง, เท้า ส่วนคำว่า “สุม” หรือ “ชุม” มาจากภาษาถิ่น หมายถึง “การรวมกัน” มาจากประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ๔ รอย คือ รอยพระบาทของพระกกุสันธ พระโกนาคมน พระกัสสป และพระโคตม นั้นเอง
อ้างอิง
กรมศิลปากร. อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม). [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อ.ต. หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ เดชะคุปต์) วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ณสุสานวัดมกุฏกษัตริยาราม]. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม. ๒๔๘๓.
กรมศิลปากร. อุรังคธาตุนิทาน (ตำนานการสร้างและการบูรณะพระธาตุพนมยุคโบราณ) . นครพนม : หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม กรมศิลปากร. ๒๕๖๓
กรมศิลปากร. เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม. กรุงเทพ : กรมศิลปากร. ๒๕๖๗
ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ. บ้านเมืองอีสาน-สองฝั่งโขง ใน “อุรังคธาตุ” ตำนานพระธาตุพนม. เข้าถึงเมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๗ เข้าถึงได้จาก : https://www.silpa-mag.com/history/article_115115
(จำนวนผู้เข้าชม 250 ครั้ง)