ตู้อิเหนา ตอน ลมหอบ

         ตู้อิเหนา ตอน ลมหอบ

         ศิลปะรัตนโกสินทร์ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕

         เครื่องตกแต่งพระเบญจาประดิษฐานพระโกศในงานพระเมรุ เดิมอยู่ที่หอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รับมาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓

         พระเบญจา คือ พระแท่นทำเป็นฐานซ้อนชั้นขึ้นไป ใช้สำหรับรองรับพระบรมโกศ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเจ้านายชั้นสูง และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ หรือสำหรับประดิษฐานบุษบกพระพุทธรูป 

         “...พนมศพครบเจ็ดชั้น พึงพิศ แลฉลุลายประดิษฐ์ เลิศแล้ว...” ในโคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวงใช้คำเรียกพระเบญจาว่า “พนมศพ” ซึ่งคำว่า พนม แปลว่า ภูเขา อันสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุสำหรับประดิษฐานพระโกศ 

         บริเวณพระเบญจานั้นมีการตกแต่งด้วยรูปประติมากรรมต่างๆ ในแต่ละชั้น โดยปรากฏหลักฐานอยู่ใน “นิพพานวังน่า” ได้บรรยายลักษณะพระเบญจา ๗ ชั้น สำหรับรองรับพระโกศสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ณ พระเมรุมาศ ก่อนพระราชทานเพลิงพระศพไว้ ดังนี้

 

“เขาเชิญชักพระโกษบรมนารถ 

ขึ้นเหนืออาศน์ชวลิตประสิทธิสม 

ชั้นหนึ่งเทพย์น้อมศิโรดม 

ถึงชั้นสองมีพรหมประนมกร 

อันชั้นสามแลงามจำเริญเนตร 

อมเรศร์เรียงเทพย์อับศร 

ที่ชั้นสี่มีเทพย์กินนร 

วิชาทรคนธรรพสลับกัน 

ชั้นห้ารจนาองค์อิเหนา 

เมื่อโศกเศร้าแรมห้องคูหาสวรรค์ 

เหมือนลอองร้างสิบสองพระกำนัล 

ทั้งแปดหมื่นสี่พันเคยปกครอง 

ชั้นหกเป็นกนกกระหนาบอินทร์ 

ทรงคิรินทร์เจ็ดเศียรผันผยอง 

ถึงชั้นเจ็ดเพ็ชร์รับหิรัญรอง 

เห็นสีส่องแสงรุ้งอร่ามพราย”

 

         จากคำประพันธ์ข้างต้น สันนิษฐานได้ว่ารูปประติมากรรมสำหรับตกแต่งพระเบญจาประดิษฐานพระโกศ มักให้ความสำคัญกับการส่งเสด็จสู่สวรรค์ อันเป็นงานประณีตศิลป์ที่สอดคล้องกับคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ และฉากตัวละครจากวรรณกรรมของราชสำนัก ทั้งนี้อาจใช้สำหรับแสดงพระราชอิสริยยศของเจ้านายพระองค์นั้นๆ ด้วย

ตัวอย่างเช่น หุ่นจำลองเรื่องรามเกียรติ์ ฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ใช้สำหรับตกแต่งพระเบญจาซึ่งประดิษฐานพระโกศในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ท้องสนามหลวง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๓ 

         โดยธรรมเนียมการประดิษฐานพระบรมโกศบนพระเบญจานั้น ได้มีการยกเลิกไปเมื่อครั้งพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ โดยมีการปรับเปลี่ยนมาใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สำหรับตั้งพระเบญจาแทนการฉลองก่อนการถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ แล้วบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ เรียกว่า การทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ

 

         ข้อสังเกต “ตู้อิเหนา ตอน ลมหอบ” นี้ ใช้เทคนิคปูฉากหลังด้วยกระจกเกรียบ ทำให้เกิดแสงสะท้อนแวววับคล้ายกับฟ้าแลบ อีกทั้งใช้สำลีม้วนแทนพายุและเมฆหมอก มีต้นไม้ไหวเอนพร้อมกับกิริยาของตัวละครที่สอดคล้องกับคำบรรยายในบทละครเรื่องอิเหนา ตอน ลมหอบ ดังนี้

 

๏ จึงผาดแผลงสำแดงศักดาเดช 

สะเทือนทั่วประเทศทิศาศาล

เมฆหมอกมืดมนอนธการ 

อัศจรรย์บันดาลด้วยฤทธิรณ

แล้วบังเกิดพายุใหญ่   

กัมปนาทหวาดไหวทั้งไพรสณฑ์

ลมหอบเอารถนฤมล 

สามคนลอยลิ่วปลิวไป

๏ บัดนั้น 

ประสันตาตัวสั่นหวั่นไหว

กะระตาหลาล้มลงทันใด 

ฉวยได้กอหญ้ากระหมวดมือ

ประสันตาคว้ากอดต้นไม้มั่น 

นึกพรั่นกลัวจะพลัดมือถือ

เสียงสายฟ้าลั่นบันลือ 

ไม่รู้สึกสมประดีดาล

 

         หากพิจารณารูปแบบของชุดตู้อิเหนานี้ สามารถอนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา โดยเป็นช่วงที่ศิลปะตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานศิลปกรรมไทยแล้ว สังเกตได้จากเครื่องแต่งกายของทหารในตอนลักนางบุษบา อีกทั้งสถาปัตยกรรมกับเครื่องตกแต่งอาคารในตอนอิเหนาประชวร ล้วนบ่งบอกลักษณะของฉากและเครื่องแต่งกายตัวละครที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกทั้งสิ้น

กรมศิลปากรเคยนำชุดตู้อิเหนาไปจัดแสดงจำนวน ๒ รายการ คือ ตู้อิเหนา ตอนท้าวดาหาบวงสรวง และตอนลักนางบุษบา ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๔  

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปทุมธานี

 

 

อ้างอิง

ธนโชติ เกียรติณภัทร. ฉากงานพระเมรุมาศและพระเมรุในวรรณคดีไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น : ภาพสะท้อนพระราชพิธี พระบรมศพก่อนสมัยรัชกาลที่ ๖. ดำรงวิชาการ. ๑๗ ๑ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๑).

พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระฯ. บทลครเรื่องอิเหนา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. โรงพิมพ์ไทย. ๒๔๖๔

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒธรรม. ๒๕๕๙

(จำนวนผู้เข้าชม 282 ครั้ง)